การทุจริต ตบแต่งบัญชี ของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง ทั้งกับเจ้าหนี้แบงก์ เจ้าหนี้หุ้นกู้ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย รวมถึงสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” ได้ทำการรวบรวมทุกเหตุการณ์ผิดปกติและความเคลื่อนไหวของ STARK นับตั้งแต่แจ้งงบปี 64-65 เพื่อให้นักลงทุนสามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างรอบด้าน ผ่านคอลัมน์ประเด็นร้อนที่นี่ที่เดียว
***ส่งงบปี 64-65 ขาดทุนหนัก 1.2 หมื่นลบ. ส่วนทุนติดลบ 4.4 พันลบ.
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยแจ้ง ผลประกอบการปี 65 และปี 64 ที่ผ่านการตรวจสอบบัญชีใหม่ มีดังนี้ โดยปี 65 กลุ่มบริษัทฯ ขาดทุน 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 662 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 11.04% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 5,989 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อีกจำนวน 3,473 ล้านบาท
ด้านปี 64 ที่มีผลขาดทุน 5,989 ล้านบาท จากเดิมที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่ามีกำไร 2,794.9 ล้านบาท และมีรายได้ 19,055 ล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้ 25,213 ล้านบาท ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขาดทุนมาจากการปรับตัวขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบหลักที่ราคาผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้นทุนที่เพิ่มจากราคาซื้อวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ไม่สามารถถูกส่งผ่านไปสู่ลูกค้าได้ทั้งหมด
ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ในปี 65 ติดลบ จำนวน 4,403 ล้านบาท ส่วนสิ้นปี 64 ตามบัญชีแก้ไขใหม่ ติดลบจำนวน 2,844 ล้านบาท จากเดิมที่เคยแจ้งอยู่ที่ 6,504 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน และการปรับปรุงรายการข้อผิดพลาดในแต่ละปี
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=YnJuVUhTdjRjL0E9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***เปิดรายงานผู้สอบบัญชี STARK พบพิรุธเพียบ และความผิดปกติของ 4 บริษัท
โดยบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด โดยทางผู้สอบบัญชีได้รายงานแนบผลประกอบการ ซึ่งผู้ตรวจสอบพบรายการขายผิดปกติ จำนวน 202รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาทและ 3,593 ล้านบาท ในปี 65และ 64 ตามลำดับ โดยรายการขายผิดปกติตรวจพบจากการสอบยืนยันยอดที่ถูกต้องกับลูกค้า การตรวจสอบการรับชำระเงิน ลักษณะการจ่ายเงินที่ไม่ปกติ การปลอมแปลงชื่อผู้จ่ายเงิน และการจ่ายเงินจากบัญชีของอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทแทนลูกค้า
ด้านอายุลูกหนี้ ผู้ตรวจสอบพบว่า จากข้อมูลในระบบ SAP เปรียบเทียบกับรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ทางฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี พบว่า มีการคำนวณระยะเวลาคงค้าง (outstanding days) ที่แตกต่างกัน ส่งผลทำให้อายุของลูกหนี้ในทุกระยะเวลา (aging range) ในรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ฉบับที่ฝ่ายจัดการ (เดิม) ส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ต่ำกว่าหรือระยะคงค้างน้อยกว่าความเป็นจริง และเมื่อสอบทานย้อนกลับพบว่าความผิดปกติดังกล่าวได้เกิดขึ้นในทุกไตรมาสของปี 2565 ที่ผ่านมา
ส่วนบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า ณ วันที่ 31ธันวาคม 2565 พบว่า บริษัทได้ทำการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าล่วงหน้าโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย ผู้ขายวัตถุดิบในต่างประเทศ (key RM vendor/supplier) ในสกุลเงินบาท เป็นเงินถึง 7,976 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ในอดีตย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน
สำหรับความผิดปกติของ 4 บริษัท ประกอบด้วย 1.เฟ้ลปส์ ดอด์จ 2.อดิสรสงขลา 3.ไทยเคเบิ้ล และ 4.เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ โดยรายละเอียดสามารถอ่านได้ในหน้าข่าวเต็ม
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=WHBiSTZ6eW9uR3c9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***STARK เผยผล special audit ระยะแรก พบ 4 ข้อพิรุธ ไล่สอบผู้บริหารชุดเก่า เร่งหาตัวผู้กระทำผิด
ตามที่บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (specialaudit) หลังจากที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัยในประเด็นการดำเนินงานและได้ปฏิบัติหน้าที่ตามนัยมาตรา 89/25 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือ การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ระยะแรก และได้รับรายงานสรุปผลการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี จึงขอสรุปผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (specialaudit) ระยะแรก ดังนี้
คณะกรรมการตรวจสอบได้มอบหมายให้บริษัทดำเนินการว่าจ้างบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอบีเอเอส จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบครอบคลุมรายการผิดปกติที่เกี่ยวข้องบัญชีลูกหนี้การค้าที่ผู้สอบบัญชีได้รับหนังสือยืนยันยอด (A/R confirmation) ที่แตกต่างกัน เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าที่จำนวนเงินสูงผิดปกติ เอกสารแจ้งหนี้ (invoices) ที่มีมูลค่าและจำนวนมากเป็นพิเศษในช่วงสิ้นงวด สินค้าคงคลังสูญหาย และรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบพิเศษระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 และผู้ตรวจสอบพิเศษได้นำส่งร่างรายงานผลการตรวจสอบ (draft final report) ให้แก่บริษัทในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 และฝ่ายจัดการได้นำเสนอร่าง รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 โดยสามารถสรุปผลการตรวจสอบดังต่อไปนี้
- มียอดขายที่ผิดปกติ โดยพบรายการขายผิดปกติ จำนวน 202 รายการ คิดเป็นมูลค่าขาย 8,063 ล้านบาทและ3,593 ล้านบาท ในปี 2565 และ 2564 ตามลำดับ
- มียอดสินค้าคงเหลือที่ผิดปกติ โดยผู้ตรวจสอบพิเศษพบว่า ณ วันสิ้นงวด มีรายการสินค้า (stock items) ประกอบด้วย รายการสินค้าระหว่างทำ (WIP) วัตถุดิบ (RM) และสินค้าสำเร็จ (FG) มียอดติดลบในระบบสารสนเทศ (ERP) ของบริษัทจำนวน 3,140 รายการ
- รายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้ถูกจัดทำอย่างไม่ถูกต้อง
- เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า (advance payments) ผิดปกติ
หลังจากที่ประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบร่างรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวแล้ว ฝ่ายจัดการ (ใหม่) จึงได้แจ้งต่อผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อนำผลจากการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ระยะแรกไปแก้ไขปรับปรุงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 โดยฝ่ายจัดการ (ใหม่) ได้ให้ความร่วมมือกับ ผู้ตรวจสอบบัญชีในการปรับปรุงรายการผิดปกติดังกล่าวทั้งหมด และแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อให้งบการเงินประจำปีของบริษัท ทั้งปี 2564 และ 2565 แสดงข้อมูลที่ถูกต้องและสะท้อนฐานะการเงินและผลประกอบการที่แท้จริง
นอกจากนี้ STARK ได้ชี้แจงรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญในงบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อยที่ผ่านการตรวจสอบประจำปี 2565 โดยเฉพาะ การเปิดเผยรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับรายการผิดปกติในงบการเงินของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ดังนี้
- การตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ
- ธุรกรรมที่ผิดปกติระหว่าง PDITL กับ "เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่งฯ" เกิดจากผู้บริหารชุดก่า
- แนวทางในการดำเนินการของบริษัทเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหาย โดยบริษัทจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อได้รับผลสรุปการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) และการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) จากผู้สอบบัญชี และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องก็จะนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินดดีกับกระบวนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหายดังกล่าว
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=S1M4SGxJS3pYZjA9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***ตลท.ประกาศให้ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หลังส่วนทุนติดลบ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) แจ้งดำเนินการกับ STARK ตามที่ STARK ไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 และงบการเงินไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 STARK ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ และปรากฎว่าส่วนของผู้ถือหุ้นปี 2564 (ปรับปรุงใหม่) และปี 2565 มีค่าน้อยกว่าศูนย์เป็นจำนวน 2,895 ล้านบาท และ 4,415 ล้านบาท ตามลำดับ ส่งผลให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน และประกาศตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าด้วยแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นสามัญจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการดังนี้
1. ประกาศให้หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป พร้อมทั้งขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-compliance)
อย่างไรก็ดี การขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK จากกรณีที่หลักทรัพย์ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น เนื่องจากหลักทรัพย์ STARK ได้รับอนุญาตให้สามารถซื้อขายได้เป็นการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 1 - 30 มิถุนายน 2566 ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ไปจนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และดำเนินการให้บริษัทมีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ
2. ให้ STARK เปิดเผยแนวทางดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ พร้อมทั้งกำหนดเวลาของการดำเนินการดังกล่าวแก่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้ทราบ ภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566
3. ให้ STARK เร่งดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ให้หมดไปภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ซึ่งหากครบกำหนดเวลาแล้ว STARK ยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนดังกล่าวให้หมดไปได้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาดำเนินการเพิกถอนหลักทรัพย์ STARK ต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้มีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มิถุนายน 2566) หลังจากที่หลักทรัพย์ STARK ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เป็นระยะเวลาครบ 3 เดือน ด้วยเหตุที่ STARK ไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่เปิดให้มีการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK อีก จากการที่หลักทรัพย์ STARK มีเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนในครั้งนี้
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=YnJuVUhTdjRjL0E9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***ก.ล.ต. เตือน นลท.พิจารณางบการเงินด้วยความระมัดระวัง
ด้านก.ล.ต. ขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาศึกษาที่เกี่ยวข้องข้อมูลดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีการเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของ STARK จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566
ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการในกระบวนการตรวจสอบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และหากพบว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายตามกระบวนการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันด้วยแล้ว
นอกจากนี้ เนื่องจากผลการตรวจสอบ special audit ที่กล่าวข้างต้น ยังไม่ครอบคลุมขอบเขตการตรวจสอบตามที่ ก.ล.ต. สั่งการไว้ทั้งหมด ซึ่ง STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจสอบ special audit เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากยังมีข้อมูลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม โดย ก.ล.ต. จะได้พิจารณาคำขอดังกล่าวต่อไป
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=cVBpeDdjRUVNRkk9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***กูรูมอง STARK ส่อแววล้มละลาย-ฐานะร่อแร่อาจฟื้นฟูฯไม่ไหว ใครมีหุ้นควรขายลดเสี่ยง!
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” ถึงกรณีทุจริต ในบริษัท บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ว่า เชื่อว่าในที่สุด STARK น่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่อาจจะคาดหวังกับการฟื้นฟูกิจการไม่ได้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เสียไป ทำให้ความร่วมมือที่จะช่วยในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งจากผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้แบงก์ อาจไม่ได้เยอะมาก ดังนั้นอาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ STARK ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
สำหรับผู้ถือหุ้น หากพิจารณาว่า ต่อให้ STARK สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า หุ้นจะสามารถกลับไปได้ คงต้องใช้เวลาที่จะต้องคืนเงินฝั่งเงินกู้ และเห็นในเรื่องการปรับรายได้ และต้นทุนต่างๆ แสดงว่า จากเดิมที่มีกำไร ความจริง ความสามาถในการทำกำไร อาจไม่สูง หรือ อาจไม่มีกำไร ดังนั้น การที่จะคืนเงินกู้ของกิจการให้ได้ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ลักษณะนี้ นักลงทุนอาจจะต้องตัดใจว่าการลงทุนหุ้นตัวนี้อาจเป็นความผิดพลาด ที่อาจไม่ได้มีผลตอบแทนกลับมาให้นักลงทุน
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า กรณีของ STARK นั้นมองว่า จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยดูจากส่วนทุนติดลบ 4,400 ล้านบาท โดยภาพรวม คงหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการไม่ได้อย่างแน่นอน ส่วนราคาหุ้น คงต้องถอยลงไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะของการหยุดการซื้อขาย โดยปัจจุบันตลาดให้โอกาสในการเทรด 1 เดือน ซึ่งในระยะสั้น ผลประกอบการ หรือ การแถลงความชัดเจนของผลประกอบการที่ออกมา ถือเป็นเชิงลบของตัวราคาหุ้น และมองว่าทิศทางของราคาหุ้นจะถอยลงไปเรื่อยๆ
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=Y0JzYzBYS3ZZYzg9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***ผู้ถือหุ้น STARK นับ 100 ราย รวมตัวฟ้องคดีแบบกลุ่ม เปิดลงชื่อผู้เสียหายถึง 25 มิ.ย.นี้
ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดได้รับการติดต่อจากผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อย บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK” ที่ได้รวมตัวกันเบื้องต้นกว่า 100 คน จากจำนวนทั้งหมดกว่า 10,000 คน ด้วยการอำนวยความสะดวกของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเพื่อขอคำปรึกษาตนในฐานที่ปรึกษาการลงทุนในการรวมตัวแสดงจุดยืนของผู้ถือหุ้นรายย่อย เพื่อให้การรวมตัวของกลุ่มผู้เสียหายมีความเป็นหนึ่งเดียว
จึงขอเชิญชวนนักลงทุนรายย่อยผู้ถือหุ้นสามัญ ที่ตกเป็นเหยื่อผู้เสียหายจากหุ้น STARK กรอกแบบฟอร์มตามลิงค์
https://forms.office.com/Pages/ResponsePage.aspx?id=aJ9E3Ee9S0OiOxK7CpqamjI1gLgEUbBAlZJsmC7nqsNUQlFYMThKMDMwQUJQT1pIOFNBSFlLT1c2UyQlQCNjPTEu
ทั้งนี้ กรณีการดำเนินคดีต่อผู้รับผิดชอบเกี่ยวข้องชนะคดีได้รับความเป็นธรรม ผู้ที่ส่งข้อมูลและร่วมเป็นโจทก์ดำเนินคดีเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้รับความเป็นธรรม และอาจจะมีโอกาสได้เงินคืน ส่วนท่านที่เพิกเฉย ก็ย่อมไม่ได้รับสิทธิ์นี้แต่ประการใด จึงขอให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากหุ้นสามัญหุ้น STARK ที่ประสงค์จะร้องเรียนความเป็นธรรม อันเกิดจากความไม่ปกติธุรกิจ ธุรกรรม และการลงทุน โดยสุจริต ได้กรอกแบบฟอร์มนี้ ส่งให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ภายในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูล และประสานงานดำเนินการต่อไป
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=WFJxeVBKSklucWM9&year=2023&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK
***สมาคมบลจ. นัดสมาชิกถกด่วนกรณีทุจริต STARK จี้ก.ล.ต.สอบ"ผู้สอบบัญชี" ปล่อยงบผ่านมาได้อย่างไร
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยกับสำนักข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" ว่า กรณีบริษัท บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทางสมาคม AIMC ต้องขอประชุมกันภายในก่อนน่าจะเร็วๆนี้ ถึงแนวทางหลังจากนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากผู้ที่รับผลกระทบจากความเสียหายในครั้งนี้ เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนในตลาดทุน ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะดำเนินงานคดีแบบกลุ่ม (Class action) หรือไม่อย่างไร เพราะเพิ่งมีการชี้แจ้งเรื่องทุจริตออกมา ประกอบกับต้องดูผลกระทบของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ประกอบกัน
สำหรับกรณี STARK ซึ่งทุจริต-ตกแต่งบัญชี มองว่าเบื้องต้นควรตรวจสอบ สอบถามผู้ตรวจสอบบัญชี (auditor) ว่ากรณีดังกล่าวผ่านการตรวจสอบบัญชีมาได้อย่างไร และหลังจากนี้อาจเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. ที่ต้องสืบสวน ว่าคนที่ให้บริษัทฯ ดำเนินการผ่านมาได้ จะได้รับโทษหรือไม่อย่างไร และอนาคตโทษจะแรงขึ้นหรือไม่ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของอุตสาหกรรมการลงทุน ซึ่งการตรวจสอบความผิดและมีผู้รับผิดชอบ จะเรียกความมั่นใจของนักลงทุนให้กลับมา
"กรณีนี้ถือว่ากระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดเคยติด SET100 ซึ่งการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น บอกถึงกระบวนการที่ต้องรัดกุมมากกว่านี้หรือไม่ เพราะข้อมูลที่ออกมาตอนแรกนึกว่าจะล่าช้า แต่การตรวจสอบเกิดขึ้นได้เร็วและสามารถตรวจได้ถึงต้นทาง แสดงว่ามีข้อมูลความผิดพลาดส่วนนี้อยู่แล้วใช่หรือไม่ แต่ละเลยหรือเปล่า ซึ่งก.ล.ต.ต้องควบคุมมากขึ้นหรือไม่ และคนที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้จะจัดการอย่างไร เราในฐานะนักลงทุน ต้องพึ่งข้อมูลจากทุกคนในการวิเคราะห์ก่อนที่จะลงทุน เมื่อผู้สอบบัญชีรับรองข้อมูลมาให้ จึงอนุมานได้ว่าข้อมูลที่ได้รับมาปลอดภัยและน่าเชื่อถือแล้ว "นางชวินดากล่าว
อ่านข่าวเต็มได้ที่นี่
http://www.efinancethai.com/LastestNews/app.index.aspx?id=dVlOTFB6clFXb289&year=19&month=6&lang=T&v=2018&security=STARK