โบรกฯทยอยหั่นเป้า SET - EPS ปี 67 หลังงบ - GDP ปี 66 ต่ำกว่าตลาดคาด โดยกรอบ SET ใหม่ถูกคาดไว้ที่ 1,470 - 1,600 จุด ส่วน EPS ที่ถูกหั่นลงเหลือ 91.5 - 92.1 บ./หุ้น จับตายังมีอีกหลายโบรกฯยังทบทวนตัวเลขอยู่ คาดหั่นตามมาอีกเพียบ ส่วนใหญ่แนะกลยุทธ์เอาตัวรอดทยอยสะสมหุ้นงบปี 67 แกร่ง
*** กำไรบจ. - จีดีพีปี 66 ต่ำคาด นำสู่การหั่นเป้า SET - EPS ปี 67
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดาโอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/66 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย จำนวน 781 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมราว 1.64 แสนล้านบาท ลดลง 41% จากไตรมาสก่อน ซึ่งกำไรสุทธิระดับดังกล่าวถือว่าต่ำกว่า Bloomberg Survey คาดไว้ถึง 30%
ปัจจัยหลัก ที่ทำให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยงวดดังกล่าวต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ มาจากรายการพิเศษมากกว่าไตรมาสอื่น ๆ และยังมีผลขาดทุน stock น้ำมัน แม้จะได้ผลบวกจากเงินบาทแข็งค่า ซึ่งมองภาพรวมแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงกำไรของบริษัทในหลาย ๆ อุตสาหกรรมยังดูอ่อนแอ จึงนำมาสู่การทยอยปรับลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) และเป้าหมายกรอบดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นปี 67 ด้วย
โดย บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย ณ สิ้นปี 67 ลงเหลือ 1,470 จุด (เดิม 1,520 จุด) ประกอบกับ ได้ปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนลงจากเดิมอีก 4% เป็น 91.5 บาท/หุ้น เติบโตขึ้น 12.96% จากปีก่อน
สะท้อนจากอัตราการเติบโตของ GDP ไทยไตรมาส 4/66 ที่ต่ำกว่าคาด โดย GDP เติบโตขึ้น 1.7% จากปีก่อน แต่หดตัวลง 0.6% จากไตรมาสก่อน ทำให้ GDP ในปี 66 ของประเทศไทยขยายตัวเพียง 1.9% จากปีก่อน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเติบโต 2.4% อีกทั้งกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/66 ยังเติบโตเพียง 7% จากปีก่อน ต่ำกว่าที่คาดว่าจะเติบโต 14% จากปีก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากกลุ่มปิโตรเคมีฯ, ขนส่ง, พลังงาน, ธนาคาร, บรรจุภัณฑ์ และ วัสดุก่อสร้าง
เช่นเดียวกับ บทวิเคราะห์ บล.เอเชีย พลัส ที่ระบุว่าได้ปรับลดเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 67 ลงเหลือไม่เกิน 1,600 จุด (เดิมไม่เปิดเผยเพราะเป็นระดับที่สูงเกินไปไม่สอดคล้องกับสถานการณ์) ขณะที่ EPS ปี 67 ถูกลดลงเหลือ 92.1 บาท/หุ้น (เดิม 99.8 บาท/หุ้น) เติบโตขึ้น 13.7% จากปีก่อน
สำหรับ ปัจจัยหลักของการปรับเป้าหมายตัวเลขดังกล่าวลง เป็นผลจากผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/66 อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เช่นเดียวกับการเติบโตของ GDP ปี 66 ที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์
อีกทั้งผลสำรวจของ Bloomberg Consensus ยังเปิดเผยว่า ประเทศในทวีปเอเชียมีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยถูกเพิ่มแนวโน้มการเกิด Recession ขึ้นเป็น 30% (เดิม 15%) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่ากังวล และอาจส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ยังไม่ไหลกลับเข้ามาในระยะนี้
*** อีก 2 โบรกฯกำลังทบทวนตัวเลข จ่อหั่นเป้าตาม
"วิลาสินี บุญมาสูงทรง" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ระบุว่า จากทั้งปัจจัยกำไรบริษัทจดทะเบียน และการเติบโตของ GDP ประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4/66 ที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ทำให้เรากำลังพิจารณาปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย และ EPS ณ สิ้นปี 67 ลง
"ปัจจุบันเรายังคงเป้า SET ณ สิ้นปี 67 ไว้ที่กรอบ 1,373 - 1,569 จุด แต่ต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์ล่าสุด ทำให้กรอบบนที่เราประเมินไว้ดูห่างไกลความเป็นจริงไปแล้ว ดังนั้นเราจะต้องมีการปรับลดเป้า SET Index ลงอย่างแน่นอน ขณะที่ กำไรบริษัทจดทะเบียนของเราประเมินไว้ที่ 98 บาท/หุ้น ซึ่งโดยปกติคาดการณ์ EPS ของเรามักสอดคล้องกับ Bloomberg Consensus โดยล่าสุด Bloomberg Consensus ก้ปรับลด EPS หุ้นไทยลงมาเหลือ 94 บาท/หุ้นแล้ว แต่เราขอพิจารณาไส้ในของตัวเลขทั้งหมดอีกที จึงจะสามารถระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้"วิลาสินี กล่าว
สอดคล้องกับ "วิกิจ ถิรวรรณรัตน์" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง ที่ระบุว่า มีแนวโน้มจะปรับลดเป้าหมาย SET Index และ EPS ณ สิ้นปี 67 ลงเช่นกัน โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างทบทวนตัวเลข คาดจะมีการเปิดเผยตัวเลขใหม่ได้ภายในสัปดาห์นี้
*** ส่วนใหญ่แนะเก็บหุ้นกำไรปี 67 โตแกร่ง
บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย กลับมากล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และพร้อมจะเร่งตัวขึ้นในปี 67 โดยจะได้ปัจจัยหนุนจากภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่อยู่ในเกณฑ์ดี, การส่งออกที่ฟื้นตัว และการพลิกกลับของภาครัฐบาลหลังอนุมัติงบประมาณประจำปี 67 ได้ภายในเดือน มี.ค.นี้
ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของ SET ช่วงที่ผ่านมาทำให้อัพไซด์เพิ่มขึ้น เรามองว่าที่ช่วงดัชนีระดับ 1,350-1,360 จุด ยังมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากดัชนีฯมีการซื้อขายที่ค่า P/E ปี 67 ที่ 15.1 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด-19 ที่ 15.7 เท่า ทำให้กลยุทธ์ลงทุนยังเน้น Selective โดยเลือกหุ้นที่แนวโน้มกำไรปี 67 แข็งแกร่งและเทรด PE/PBV ต่ำเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แนะนำ AOT, BCH, CPALL, CPN, GPSC, MINT, NSL, SJWD และ TIDLOR
ด้าน บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส แนะนำนักลงทุนหลบความผันผวนของดัชนีชั่วคราว โดยการลงทุนในหุ้น Real Sector ที่ประกาศงบการเงินงวดไตรมาส 4/66 ไปแล้ว และคาดว่ากำไรงวดไตรมาส 1/67 จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น อาทิ SCCC, ADVANC, INTUCH, AOT, DRT, GULF, MINT, ITC, CPAXT, JMT, JMART, SCC, GPSC, IRPC และ TOP เป็นต้น
ส่วน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังค่อนข้างมีอัพไซด์จำกัด เนื่องจากกำไรของหลาย ๆ บริษัทยังไม่ใช่ช่วงการเติบโตที่โดดเด่น ทำให้กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ Selective หุ้นที่ผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ประกอบกับ กำไรปี 67 มีแนวโน้มแข็งแกร่งและล้อไปกับการบริโภคภายในที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดี แนะนำ CPALL, CPAXT, ICHI, SAPPE และ TKN เป็นต้น