ความสำคัญของ ESG กับบริษัทจดทะเบียนไทยเริ่มมีบทบาทและน้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่มี ESG สูงจะถูกให้ความสำคัญและยกระดับความน่าสนใจลงทุน เช่นล่าสุดจะมีการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากเรามีความรู้ความเข้าใจความหมายของ ESG ให้มากขึ้น...
*** ESG คืออะไร ?
ESG เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก ดังนี้...
1.Environment : เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงในด้านความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม
2.Social : เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสาร กับ ลูกจ้าง, Suppliers, ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อย่างไร
3.Governance : เป็นหลักการที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการบริการความสัมพันธ์ในเชิงการกำกับดูแลอย่างไร เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย
ทั้งนี้แนวคิด ESG ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการนำเสนอผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
*** ESG กับตลาดหุ้นไทย
ตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน จนมาถึงปีนี้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนชื่อ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” เป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมทั้งประกาศผลประเมินในรูปแบบ ESG Ratings เป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
ทั้งนี้ปัจจุบันมีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ทั้งสิ้น 193 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72 % เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai ณ 1 พ.ย.66 โดยมีระดับ AAA ทั้งสิ้น 34 บริษัท, ระดับ AA รวม 70 บริษัท, ระดับ A รวม 64 บริษัท และระดับ BBB จำนวน 25 บริษัท
*** ESG Ratings ประเมินจากอะไร
SET ESG Ratings ประเมินจากบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัทจดทะเบียนที่มีผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ และต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Reporting หรือ CGR), ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น, ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนและการไม่สร้างผลกระทบด้าน ESG, การเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้น เครื่องหมาย C เป็นต้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประเมินความยั่งยืนปีละ 1 ครั้ง หากบริษัทมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จะถูกคัดออกจาก SET ESG Ratings ระหว่างปีได้
ESG Ratings แบ่งเป็น 4 ระดับ โดย บจ.ที่มีคะแนนระหว่าง 90-100 จะได้ระดับ AAA, คะแนนระหว่าง 80-89 จะได้ระดับ AA, คะแนนระหว่าง 65-79 จะได้ระดับ A และ คะแนนระหว่าง 50 - 64 จะได้ระดับ BBB
ทั้งนี้ บจ.ที่ได้รับการประกาศผล SET ESG Ratings เป็นบริษัทที่มีการนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risks) พร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำดัชนีความยั่งยืน SETESG Index โดยคัดเลือกจากบริษัทที่มี ผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปีล่าสุดที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free-float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้ว และมีจำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่า 0.5% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน
*** ประโยชน์ของ SET ESG Ratings
สำหรับ บจ.
1.นําแบบประเมินหุ้นยั่งยืนไปใช้เป็นเครื่องมือสําหรับปรับปรุงและพัฒนาการดําเนินงานด้าน ESG
2.พิจารณาผลการประเมินหุ้นยั่งยืนเพื่อยกระดับการดําเนินงานด้าน ESG โดยเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม
3.สร้างโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนเป็นที่สนใจและได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเข้าถึงแหล่งเงินทุน
สำหรับผู้ลงทุนและนักวิเคราะห์
1.เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้เปรียบเทียบการดำเนินงานด้าน ESG ของแต่ละบริษัทจดทะเบียน
2.ใช้ประกอบการวิเคราะห์ การประเมินมูลค่าหุ้น และการให้คำแนะนำในการลงทุน
3.เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน
4.ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการติดตามและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมให้บริษัทคำนึงถึงประเด็น ESG