efinancethai

ประเด็นร้อน

เปิดเหตุผลฝรั่งขายหุ้นไทยไม่หยุด ศก.-กำไร บจ.โตต่ำ ดัน P/E ไม่ขึ้น

เปิดเหตุผลฝรั่งขายหุ้นไทยไม่หยุด ศก.-กำไร บจ.โตต่ำ ดัน P/E ไม่ขึ้น

ผ่าสถิติ 10 ปีหลัง ต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท วงการชำแหละเหตุผล ทั้งเศรษฐกิจโตต่ำ - ธุรกิจเก่าโตช้าดัน P/E ไม่ขึ้น  - โปรแกรมเทรดถล่มขายฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน มองแรงขายยังไม่หมด วอนหน่วยงานกำกับดูแลฟื้นความเชื่อมั่นด่วน เบรกลงทุนเก็งกำไรสั้นเพราะเสี่ยงขาดทุนสูง แนะลงทุนกลาง - ยาว แถมต้องทำการบ้านหนักขึ้นด้วย !

 

*** ตั้งแต่ปี 56 ต่างชาติขายหุ้นไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท

ข้อมูลตั้งแต่ 2 - 22 ม.ค.2567 นักลงทุนต่าชาติขายสุทธิหุ้นไทย (SET + mai) ไปแล้ว 2.1 หมื่นล้านบาท ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ขายสุทธิ 1.92 แสนล้านบาท 


ขณะที่ย้อนดูข้อมูลตั้งแต่ปี 56 - ล่าสุด พบว่า เป็นการขายสุทธิรวมระดับ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่มีสถานะเป็นซื้อสุทธิ (ปี 59 และ ปี 65) ที่เหลือขายสุทธิทั้่งสิ้น สูงสุด 2.87 แสนล้านบาทในปี 61 และมีการขายสุทธิต่อเนื่องติดต่อกันถึง 5 ปี (60 - 64) 


โดยเมื่อเทียบกับนักลงทุนกลุ่มอื่นระหว่างปี 56 - 66 พบว่า นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 4.76 แสนล้านบาท, นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 4.44 แสนล้านบาท และ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 6 หมื่นล้านบาท
 

สถิติต่างชาติซื้อ - ขายหุ้นไทย 10 ปีหลัง

ปี

มูลค่า (ลบ.)

2567

-21,270

2566

-192,083

2565

196,886

2564

-50,553

2563

-263,148

2562

-44,791

2561

-287,696

2560

-26,103

2559

78,546

2558

-155,631

2557

-35,696

2556

-194,702

ที่มา : SETSMART ข้อมูล ณ 22 ม.ค.67

 

*** "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ชี้หุ้นไทยโตต่ำ - ธุรกิจเก่า ฉุดความน่าสนใจ 

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ระบุว่า ปีนี้โบรกเกอร์ต่างประเทศมองภาวะตลาดหุ้นไทยไม่แย่ แต่สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติยังมีสถานะขายหุ้นไทยสุทธิต่อเนื่อง เพราะส่วนใหญ่มองว่าหุ้นไทย ณ ปัจจุบันไม่น่าสนใจแล้ว สะท้อนจากอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยเติบโตในระดับต่ำกว่าหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค สอดคล้องกับกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยที่ระยะหลังก็ไม่สามารถเติบโตได้แบบหวือหวา และยังมีแต่ธุรกิจเก่า ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปยังธุรกิจที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้


"ในอดีตประเทศเรามีรายได้หลักจากการส่งออกเป็นหลัก ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น และการส่งออกก็เป็นสินค้าเดิม ๆ ไม่มีสินค้าอะไรใหม่ ๆ เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจลงทุนลดลง" ประกิต กล่าว


นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความเชื่อมั่นเรื่องหลักธรรมาภิบาลของหลาย ๆ บริษัท กฏเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลใช้ควบคุมก็ยังไร้บรรทัดฐานอีกด้วย 

 

*** "บล.ลิเบอเรเตอร์" ชี้โปรแกรมถล่มขายฉุดความเชื่อมั่น ! 

"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ Fund Flow ยังขายหุ้นไทยไม่หยุด เป็นเพราะความเชื่อมั่นต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ยังทำได้อย่างล่าช้า ซ้ำเติมด้วยโปรแกรมเทรดก็ยังคงมีสถานะขายสุทธิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันในช่วงนี้


อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบัน ก็เริ่มขาดเสน่ห์ไปมากแล้ว สะท้อนจากหุ้นขนาดใหญ่ในไทยล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเก่า ๆ โดยที่ไม่มีธุรกิจใหม่ ๆ ที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเข้ามาเลย ทำให้เห็นถึงการเติบโตของกำไรอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ไม่สามารถเทรดในระดับ P/E ที่สูง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ได้ 

 

*** "เอเซีย พลัส" เผยสถิติต่างชาติยอมขายขาดทุน 10 - 18%

บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส (ASP) ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ยอมขายหุ้นไทยขาดทุนถึง 10% โดยเคยซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยในปี 65 สูงถึง 2.02 แสนล้านบาท แต่ในปี 66 ถึงปัจจุบัน ต่างชาติขายสุทธิออกมาต่อเนื่อง 2.13 แสนล้านบาท ทำให้ยอดชื้อสุทธิตั้งแต่ต้นปี 65 ถึง ปัจจุบันพลิกกลับมาติดลบ 1.1 หมื่นล้านบาท


ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ลึกลงไป พบว่า ต่างชาติเคยซื้อสุทธิหุ้นไทยในปี 65 มีต้นทุนเฉลี่ยในการซื้อเทียบเท่า SET Index อยู่ที่ 1,674 จุด แต่ในปี 66 ถึง ปัจจุบันมีการขายสุทธิออกมาต่อเนื่อง โดยมีต้นทุนเฉลี่ยในการขายอยู่ที่ 1,517 จุด แสดงว่านักลงทุนต่างชาติยอมขายขาดทุนเฉลี่ยราว 10% (คำนวณจากดัชนีซื้อเฉลี่ย 1,674 จุด และขายเฉลี่ยที่ 1,517 จุด) และ ณ ปัจจุบัน SET Index อยู่ที่ 1,369 จุด ถ้าต่างชาติซื้อสะสมหุ้นไทยในปี 65 แล้วมาขายตอนนี้จะขาดทุนราว 18.3%

 

*** ส่วนใหญ่คาดแรงขายยังไม่หมด เทต่อได้อีก

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กล่าวว่า นักลงทุนต่างประเทศยังมีแนวโน้มเทขายหุ้นไทยได้ต่อเนื่องในระยะถัดไป เนื่องจากสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูง เพราะในอดีตมีการซื้อเข้ามาค่อนข้างเยอะ เเละที่ผ่านมาก็ยังเทขายออกไปไม่มากเท่าไรนัก


ดังนั้น เมื่อประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยที่ขาดเสน่ห์ไปมากแล้ว ก็มีโอกาสที่ Fund Flow จะเทขายหุ้นไทยไปเรื่อย ๆ เช่นกัน 


ส่วน"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากอ้างอิงข้อมูลล่าสุด พบว่า หุ้นกลุ่มที่ถูกนักลงทุนต่างประเทศเทขายมากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค เนื่องจากผลการดำเนินงานไตรมาส 4/66 มีแนวโน้มไม่โดดเด่น สะท้อนจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มแรกที่รายงานงบการเงินช่วงดังกล่าวไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็มีผลการดำเนินงานที่เติบโตต่ำกว่าตลาดคาด


ขณะที่ กลุ่มพลังงานฯ ก็มีแนวโน้มที่จะรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/66 ไม่โดดเด่น สะท้อนจากราคาน้ำมัน, ค่าการกลั่น และสเปรดที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างประเทศจะพิจารณาผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าวเป็นหลัก สำหรับการเทขายหุ้นออกไป 


อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศ ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงราว 30% จึงทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักลงทุนกลุ่มดังกล่าว จะเทขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ก็ประเมินว่า แรงขายจะไม่ได้หนักหน่วงถึงขนาดทิ้งหุ้นไทยไปเลย เพราะก็ยังมีนักลงทุนต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ที่เข้ามาทำธุรกิจกับ บจ.ไทยจริง ๆ

 

*** วอนช่วยเรียกความเชื่อมั่น หนุน Flow ไหลกลับ !

บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า หลังจากนี้แรงขายของนักลงทุนต่างประเทศมีโอกาสชะลอลง เพราะยอดซื้อตั้งแต่ต้นปี 65 พลิกกลับมาติดลบแล้ว ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ จะพลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยเมื่อไหร่ ? หลาย ๆ ฝ่าย อาทิ รัฐบาล, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์ฯ, กลต. และโบรกเกอร์ คงต้องช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศ พลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง

 

*** กูรูเบรกเก็งกำไรสั้น แนะทำการบ้านหนักขึ้น เน้นหุ้นปลอดภัย

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ระบุว่า ตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างซบเซาเพราะขาดสภาพคล่อง อีกทั้งยังเต็มไปด้วยโปรแกรมเทรด ยิ่งทำให้กลยุทธ์เข้าเก็งกำไรระยะสั้นทำได้ยากขึ้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่ไม่แนะนำในช่วงนี้


ดังนั้น การเข้าลงทุนช่วงนี้ ควรเป็นการลงทุนระยะกลาง - ยาว และปรับแนวความคิดใหม่ สมมติว่าตัวเองเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทที่ต้องการเข้าไปซื้อหุ้นจริง ๆ จะช่วยให้สามารถคัดกรองหุ้นเติบโตได้ดีขึ้น


ด้าน "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" กล่าวว่า โดยปกติการปรับตัวขึ้นของหุ้นไทย มักพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก แต่ช่วงนี้ยังเป็นจังหวะขายอยู่ ทำให้ดัชนีหุ้นไทยไม่ไปไหน และมีความผันผวนสูง ดังนั้น นักลงทุนที่อยากเข้าลงทุนช่วงนี้ต้องทำการบ้านหนักขึ้น เพื่อค้นหาหุ้นเป็นรายบริษัท (Selective buy)


ต้องเน้นมองหาหุ้นที่ผลการดำเนินงานแข็งแกร่งและเติบโตจริง ๆ ควรเป็นหุ้นที่กำไรสุทธิจะเติบโตตั้งแต่ไตรมาส 4/66 และยาวต่อเนื่องในปี 67 ซึ่งหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องง้อนักลงทุนต่างประเทศ แต่จะมีนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (VI) ทยอยเข้าเก็บหุ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง


ส่วน "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวปิดท้ายว่า กลยุทธ์ลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยยังผันผวน แนะนำให้ Selective buy หุ้นที่มีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลระดับสูง (High Dividend Yield) โดยมองว่า เป็นหุ้นประเภทที่จะช่วยปิดความเสี่ยงของนักลงทุนให้ลดลงได้

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด