ล่าสุดเงินเฟ้อไทยเดือน ม.ค. ลดแรงกว่าคาด ติดลบ 1.11% ต่ำสุดรอบ 35 เดือน ทำหลายฝ่ายหวังกนง."ลดดอกเบี้ย"ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะถัดไป แต่ยังมีฝั่งเห็นต่างควร"คงดอกเบี้ย"ชี้เศรษฐกิจยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แนะกนง. ดูนโยบายภาครัฐ - FED ควบคู่ก่อนตัดสินใจปรับแผนรอบประชุมถัดไปยังไม่สาย !
*** เงินเฟ้อลงแรง หวัง กนง.ลดดอกเบี้ย
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค.2567 ติดลบ 1.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน โดยมีปัจจัยหลักจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงตามนโยบายภาครัฐ รวมทั้งกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับ ฐานเดือนม.ค.66 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง
โดย ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยที่ปรับตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลว่ากำลังจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด จึงทำให้เริ่มมีหลาย ๆ ภาคส่วนส่งสัญญาณไปถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 2.5% ลงมาได้แล้ว
*** เปิดเหตุผลทำไม กนง.ควรลดดอกเบี้ย !
"เศรษฐา ทวีสิน"นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 7 ก.พ.นี้ ฝากให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.50% ซึ่งมองว่า หากปรับลดลงมา 0.25% จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2.25% ก็ยังมีช่องว่าง หรือ Room อีกมาก เพราะหากมีวิกฤตเกิดขึ้นก็ยังสามารถที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก
"นโยบายการเงินการคลังต้องไปพร้อมกัน ต้องไปด้วยกัน ต้องควบคู่กันไป และวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วเรื่องประเด็นกรอบเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังติดลบอยู่ ยังไม่อยู่ในจุดขั้นต่ำของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ ดังนั้นหากปรับลดลงมาเหลือ 2.25% ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดมีวิกฤตหรืออะไรเกิดขึ้นก็ยังสามารถลดลงได้อีกเยอะ วันนี้ทำไมถึงไม่เริ่มทำกัน ตัวเลขมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว ฉะนั้นก็ยอมรับมาว่าจริง ๆ แล้วเงินเฟ้อมันไม่ใช่ปัญหาเลย เชื่อว่าเรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝาก กนง.ไว้"เศรษฐา กล่าว
"เศรษฐา" กล่าวต่อว่า เรื่องเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ ส่วนหนึ่งเกิดจากมีมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ดังนั้นจึงสะท้อนได้ว่า เรื่องเงินเฟ้อไม่มีประเด็น ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากต้นทุนที่สูง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดอกเบี้ยเป็นเรื่องสำคัญ หากลดดอกเบี้ยไป เรื่องการจะเกิดเงินเฟ้อมองว่าความเสี่ยงเกือบไม่มีเลย
ด้าน "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า การประชุมกนง.รอบนี้ มีโอกาสสูงที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ตามเดิม เพราะอิงจากการส่งสัญญาณก่อนหน้านี้ยังคงเป็นไปในทิศทางดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรจับตาหลังการประชุมรอบนี้ ว่ากนง.จะมีการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ ? หากเป็นเช่นนั้น ก็มีโอกาสที่การประชุมรอบถัดไป กนง.จะมีการเปลี่ยนนโยบายทางการเงินได้เช่นกัน
ขณะที่ ความคิดเห็นส่วนตัว มองว่า รอบนี้ กนง.ควรลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 2.5% ลงได้แล้ว เพราะจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ มองว่า แม้กนง.จะลดดอกเบี้ยลง ก็ยังไม่ต้องกังวลเรื่องช่องว่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทย กับ สหรัฐฯ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2.5% กับ 5.25 - 5.5% เพราะถ้าหากอ้างอิงดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ย - เงินเฟ้อ) ก็จะเห็นว่า ทั้งไทยและสหรัฐฯจะอยู่ในระดับราว 3% ใกล้กัน ฉะนั้น จึงทำให้มีช่องว่างที่จะสามารถลดดอกเบี้ยลงไปก่อนได้ในรอบนี้
ขณะเดียวกัน หาก กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามคาด จะไม่ส่งผลกระทบเชิงบวกหรือลบต่อตลาดหุ้นเท่าใดนัก เนื่องจากตลาดหุ้นไม่ได้คาดหวังถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ กลับกันหากกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ก็จะสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดได้ ซึ่งจะเป็น Sentiment เชิงบวก หนุนระยะสั้นด้วย
ฟาก"กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เสริมว่า ความเห็นส่วนตัวเรื่องดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ที่ระดับเท่าไร ? ส่วนตัวมองว่า หากมีความชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 66 จะไม่สามารถเติบโตได้มากกว่า 3% ก็ควรต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับ 2.5% เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับเป็นแรงหนุนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
อย่างไรก็ตาม การลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย ควรต้องดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ด้วย หากกนง. มีการปรับลดดอกเบี้ยลงก่อน FED ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบกับสินทรัพย์ในไทย มีแนวโน้มเผชิญกับแรงขายได้เช่นกัน
*** เปิดเหตุผลที่ กนง.ควรคงดอกเบี้ย !
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า มองว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มจะลดลงได้ตามทิศทางดอกเบี้ยโลก หลังเงินเฟ้อปรับตัวลงมาใกล้เคียงกรอบล่างจนไกล้เป็นเงินฝืดเเล้ว หลังราคาพลังงานลดลงค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะที่ ความคิดเห็นส่วนตัว ยังคงอยากให้กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.5% ก่อนในรอบนี้ เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบลดจนเกินไป เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้อยู่ จึงยังไม่ถึงขั้นวิกฤติที่ต้องรีบลดดอกเบี้ยนโยบายประกอบกับ กนง.ควรรอดูนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะเงินดิจิทัล ซึ่งหากมีการนำเงิน 5 แสนล้านบาท ใส่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจจริง ก็จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นได้ ทำให้ฝั่ง กนง. เองก็ยังไม่ควรทำอะไรที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยได้มากในช่วงนี้
ทั้งนี้ หากมีการคงดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม จะไม่กระทบกับตลาดหุ้นมากนัก เนื่องจากหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีน้ำหนักในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง และผลการดำเนินงานก็จะยังไม่ถูกกดดัน ทำให้ตลาดหุ้นจะยังเห็นภาพทรงตัวต่อไป โดยมองว่าตลาดหุ้นยังคงชอบให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อน เพราะถ้าหากมีการลดดอกเบี้ยลง จะสะท้อนว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มไม่ดี ซึ่งอาจมีผลกระทบเชิงลบได้
ด้าน "ธนเดช รังษีธนานนท์" Director of Research บล.พาย ประเมินว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ตามเดิมในรอบการประชุมนี้ สอดคล้องกับ ความเห็นส่วนตัว ที่มองว่า ช่วงนี้ยังไม่ควรที่ กนง.จะรีบลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะเรื่องดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกับหลายมิติ มากกว่าการคาดการณ์ว่าหากลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้นทันที
หากมองที่จุดนั้นเพียงจุดเดียวแนะนำว่าควรไปแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจก่อน เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังกระจุกตัวเกินไป ทำให้การเติบโตทำได้ยาก นอกจากนี้ ยังควรต้องรอดูทิศทางนโยบายของ FED ด้วย ว่ามีท่าทีอย่างไร ?
ทั้งนี้ หาก กนง.มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม มีมุมมอง"เป็นกลาง"ต่อภาพการลงทุนของตลาดหุ้น เนื่องจากสถานการณ์แบบนี้จะส่งผลบวกอ่อน ๆ กับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ผลการดำเนินงานจะยังไม่ถูกกดดันตามแนวโน้มดอกเบี้ย ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่น ๆ จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะส่วนมากไม่ได้คาดหวังเรื่องการลดดอกเบี้ยเอาไว้
อย่างไรก็ตาม หาก กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบนี้ จะส่งผลกระทบเชิงลบกับหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากที่สุด เพราะเท่ากับว่าวัฏจักรดอกเบี้ยสูงได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทำให้การทำกำไรในระยะถัดไปมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่หุ้นกลุ่มอื่น ๆ จะได้ประโยชน์ในแง่ต้นทุนการกู้ยืมลดลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด