efinancethai

ประเด็นร้อน

อวสาน Window Dressing ?

อวสาน Window Dressing ?

ปกติเมื่อใกล้สิ้นไตรมาส มีลุ้นกองทุนทำ "Window Dressing" ช่วยดันดัชนี แต่ Q1/66 กูรูผสานเสียงยังเกิดยาก เหตุเพิ่งผ่านการปรับพอร์ตครั้งใหญ่ช่วงสิ้นปี 66 แถมมองอนาคตการทำ "Window Dressing" ยากขึ้น หลังมีปัจจัยใหม่อย่างโปรแกรมเทรดกระทบ Sentiment ตลาด อาจทำ"Window Dressing" ระยะถัดไปผันผวนได้ !

 

*** ใกล้จบ Q1/66 ลุ้นเกิด Window Dressing

ในช่วงก่อนปิดงบการเงิน ทุกสิ้นไตรมาสหรือสิ้นปี นักลงทุนสถาบันหรือกองทุนรวมมักใช้กลยุทธ์การทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง เพื่อทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานออกมาดูดี หรือทำให้สัดส่วนการลงทุนเป็นไปตามที่ประกาศไว้ในนโยบายกองทุน หรือให้นักลงทุนรู้สึกดีเมื่อเห็นว่ากองทุนนี้มีการลงทุนในหุ้นที่ดี มีอนาคตสดใส


เช่น เพิ่มการซื้อหุ้นที่นักลงทุนสถาบันหรือกองทุนนั้น ๆ ถืออยู่แล้ว เพื่อพยายามให้ราคาปิดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อกองทุนคำนวณมูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาดที่ปิด ณ สิ้นวัน ก็ส่งผลให้ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนสูงขึ้นไปด้วย
 

ส่วนอีกแนวทาง คือ นักลงทุนสถาบันอาจขายหุ้นตัวที่ขาดทุนมาก ๆ ออกไป พร้อมกับซื้อหุ้นตัวที่มีแนวโน้มราคาจะปรับตัวสูงขึ้นมาก ๆ มาเข้าพอร์ตแทน หรือระหว่างทางกองทุนนี้อาจมีการลงทุนที่ต่างไปจากนโยบายที่จัดตั้งบ้าง ช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงที่จะเข้ามาปรับปรุงพอร์ตการลงทุนให้กลับมาสอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ซึ่งทั้งหมดนี้มักถูกเรียกว่า "Window Dressing"


โดยปกติเมื่อเกิด "Window Dressing" มักส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น คือ ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) หรือราคาหุ้นบางตัวในตลาดหลักทรัพย์อาจปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีปริมาณซื้อจากนักลงทุนสถาบันเข้ามา โดยเฉพาะหุ้นที่ Outperform มีแนวโน้มราคาหรือผลประกอบการที่ดีอยู่แล้ว ราคาก็จะยิ่งปรับขึ้นไปอีกในช่วงสิ้นไตรมาสหรือสิ้นงวดนั้น และค่อย ๆ ลดลงมาสู่ราคาปกติในช่วงต้นเดือนถัดไป

 

*** กูรูฟันธงสิ้นเดือน มี.ค."Window Dressing"เกิดยาก

"ณรงค์เดช จัทรไพศาล"ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า มองว่า ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ มีโอกาสน้อยที่จะเกิด"Window Dressing" เพราะปกติการทำ "Window Dressing" ครั้งใหญ่ของกองทุนต่าง ๆ มักนิยมทำกันในช่วงกลางปี หรือสิ้นปี เนื่องจากเป็นช่วงรอบใหญ่ของการวัดผลกองทุน


โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี จะเห็นการทำ "Window Dressing" ครั้งใหญ่ง่ายกว่าช่วงอื่น ๆ ของปี เนื่องด้วยเป็นช่วงที่นักลงทุนต่งประเทศซื้อ-ขายระดับต่ำ ประกอบกับ เป็นช่วงเวลาปรับพอร์ตการลงทุนของกองทุนด้วย 


"ดังนั้น เมื่อนำข้อมูลในอดีตมาประกอบการพิจารณา ทำให้ประเมินได้ว่า สิ้นเดือนมี.ค.นี้ มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิด "Window Dressing" เพราะเพิ่งผ่านการปรับพอร์ตของกองทุนมาเมื่อช่วงสิ้นปี 66 หรือ ถ้าเกิดการทำ "Window Dressing" จริงในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ก็จะเป็นการทำแบบเล็ก ๆ ซึ่งไม่ส่งผลบวกต่อ SET Index อย่างมีนัยสำคัญ"ณรงค์เดช กล่าว


เช่นเดียวกับ"สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ที่มองว่า โอกาสเกิด "Window Dressing"ในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ ค่อนข้างน้อย เนื่องจากปกติแล้วการทำ "Window Dressing"ครั้งใหญ่ มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่ดีสำหรับการปรับพอร์ต และเป็นช่วงวัดผลงานกองทุน


ขณะที่ "ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ "Window Dressing" ในเดือน มี.ค.นี้ มีโอกาสเกิดยาก คือ SET Index ล่าสุด เทียบกับช่วงต้นปีไม่ได้ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ไม่น่าจะมีแรงจูงใจมากนักที่กองทุนจะทำ"Window Dressing"


ส่วนแหล่งข่าวในวงการโบรกเกอร์ เสริมว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบได้ว่าจะเกิด "Window Dressing" ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หรือไม่ เพราะปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทำ "Window Dressing" ของกองทุนต่าง ๆ มักพิจารณา SET Index ประกอบการตัดสินใจด้วย หากเป็นช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรง ก็มีโอกาสที่จะเข้ามาทำ "Window Dressing" เพื่อทำให้ NAV ของกองทุนดูดีขึ้นได้เช่นกัน 

 

*** แถมระยะถัดไป คาดไม่สามารถดันดัชนีได้

"สุนทร ทองทิพย์" กลับมากล่าวต่อว่า ในระยะถัดไปนี้ มองว่าการเกิด "Window Dressing" ครั้งใหญ่แบบที่จะทำให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ 20 - 30 จุด เหมือนในอดีตที่ผ่านมามีโอกาสเป็นไปได้ยากแล้ว เพราะสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยยังคงโดนรบกวนจากโปรแกรมเทรดของนักลงทุนต่างประเทศ 


อีกทั้ง เทรนด์การใช้โปรแกรมเทรดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามยุคสมัยด้วย ดังนั้นการทำ "Window Dressing" ของกองทุนในอนาคตอันใกล้ อาจจะเป็นไปในลักษณะทำแบบรายตัวมากกว่าที่จะเป็นแบบหว่านแหแล้ว


เช่นเดียวกับ"ณรงค์เดช จัทรไพศาล" ที่มองว่า ในระยะถัดไปมีโอกาสที่การทำ "Window Dressing" จะเกิดยากมากขึ้นกว่าในอดีตด้วยเช่นกัน สะท้อนจากปัจจัยใหม่ ๆ ที่เข้ามารบกวนตลาดหุ้นมากขึ้น หลัก ๆ คือ โปรแกรมเทรด ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญสูงขึ้นด้วย เพราะคาดว่าในอนาคตกองทุนก็ต้องนำโปรแกรมเทรดเข้ามาช่วยสำหรับการทำ "Window Dressing"


และเมื่อโปรแกรมเทรดมีจำนวนมากขึ้น จะทำให้ทั้งราคาหุ้นและการเคลื่อนไหวของดัชนีผันผวนมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่นหุ้น ก. กำลังถูกทำ "Window Dressing" และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก็เสี่ยงที่จะถูกขายออกมาอย่างรวดเร็วได้เหมือนกันหากมีโปรแกรมเทรดตัวอื่น ๆ โปรแกรมข้อมูลว่าหุ้น ก. ราคาหุ้นขึ้นมาเยอะเเล้ว มันก็จะถูกขายออกมาอย่างมากนั่นเอง 


แต่ท้ายที่สุดแล้วการทำ "Window Dressing" ก็ต้องขึ้นอยู่กับ Valuation ของตลาดหุ้น ณ ขณะนั้นด้วย ถ้าไปทำในช่วงที่ Valuation ตลาดหุ้นไม่ดี โดยสามารถดันราคาหุ้นขึ้นไปได้ ก็จะยิ่งเร่งปฏิกิริยาให้มีคนเทขายหุ้นที่ราคาหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นมากด้วย เพราะเห็นว่าสมควรที่จะขายแล้วเมื่อเทียบกับ Valuation ของตลาด ณ ขณะนั้น


ด้าน "ณัฐพล คำถาเครือ" เสริมว่า การเข้ามาของโปรแกรมเทรด ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่การทำ "Window Dressing" ในอนาคตจะยากขึ้น เพราะการใช้โปรแกรมเทรดส่วนใหญ่จะเล่นตามทริกเกอร์เป็นหลักเท่านั้น ยิ่งทำให้ความคาดหวังว่าจะเกิด"Window Dressing" ในทุก ๆ ไตรมาสลดลงด้วย


"ถ้าหากย้อนไปดูสถิติในอดีต ตั้งแต่เริ่มมีความนิยิมใช้โปรแกรมเทรดมากขึ้น จะพบว่าสถิติต่าง ๆ ในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร เช่น สถิติการปรับตัวขึ้นของดัชนีจากการทำ Window Dressing ก็ค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจากอดีต หรือ แม้แต่การปรับตัวขึ้นลงของหุ้นตามซีซั่นก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเอาสถิติในอดีตมาคาดเดาได้อย่างแม่นยำเหมือนที่ผ่านมาแล้ว อย่างเช่นหุ้นที่หลังขึ้นเครื่องหมาย XD โดยปกติก็จะปรับตัวลงตามซีซั่น แต่ปัจจุบันก็มีหลายตัวเหมือนกันที่กลับไม่ปรับตัวลงตามซีซั่นแล้ว ตั้งแต่โปรแกรมเทรดเข้ามา"ณัฐพล กล่าว

 

*** โบรกฯส่วนใหญ่ยังเน้นเก็บหุ้นบิ๊กแคป

"ณรงค์เดช จัทรไพศาล" ระบุว่า หากมีการทำ "Window Dressing" จริง หุ้นที่จะได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่กองทุนมีการถือครองอยู่แล้ว อาทิ CPALL, ADVANC หรือ PTT เป็นต้น 


ดังนั้น นักลงทุนที่อยากเข้าไปเก็งกำไรตามธีมดังกล่าว ก็ต้องพิจารณา Valuation ของหุ้นขนาดใหญ่ ณ ปัจจุบัน ว่าถูกกว่าในอดีตหรือไม่ สะท้อนจากการเทรด P/E ต่ำกว่าอดีตหรือยัง หากพบว่า Valuation ถูกกว่าอดีตแล้ว ก็สามารถทยอยเข้าสะสมหุ้นได้ เพราะเวลากองทุนพิจารณาเข้าซื้อก็จะใช้หลักเกณฑ์ความถูก-แพงของหุ้นเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเช่นกัน


เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ ที่ระบุว่า หุ้นที่จะตกเป็นเป้าหมายในการทำ"Window Dressing"ของกองทุน จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งรองรับอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนที่ต้องการเข้าเก็งกำไรในธีมนี้ ก็สามารถทยอยเข้าสะสมหุ้นขนาดใหญ่ในดัชนี SET50 ไว้ก่อนได้ เพราะส่วนมากจะตกเป็นเป้าหมายของกองทุนอยู่แล้ว


ด้าน "ณัฐพล คำถาเครือ" ระบุว่า สำหรับนักลงทุนที่ยังคาดหวังจะเกร็งกำไรจากธีม "Window Dressing" ในช่วงนี้ เรายังคงแนะนำให้สะสมหุ้นขนาดใหญ่ ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาลึกพอสมควรแล้ว ประกอบด้วย SCC, SCGP, LH และ CRC เป็นต้น


ส่วน"สุนทร ทองทิพย์" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การลงทุนในธีมลุ้น "Window Dressing" คงต้องพิจารณาก่อนว่าเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (Fundflow) ช่วงนั้นเป็นอย่างไร หากเป็นช่วงที่ยังซื้อน้อยอยู่ การจะเน้นเข้าไปสะสมหุ้นขนาดใหญ่ที่คาดหวังว่าจะเป็นเป้าหมายของกองทุนและราคาจะปรับตัวขึ้นก็คงจะทำได้ยาก คงต้องหันมาหาหุ้นที่มีผลการดำเนินงานเติบโตโดดเด่นดูบ้าง เพราะก็เป็นอีกเป้าหมายที่กองทุนบางประเภทชอบเข้าสะสมเหมือนกัน 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด