เปิดสถิติปี 56-66 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยเฉียด 1 ล้านล้านบาท !!! มีซื้อแค่ 2 จาก 11 ปี ที่เหลือขายเรียบ ล่าสุดปีนี้เทไปแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท กูรูชี้ SET เสื่อมเสน่ห์ เศรษฐกิจในประเทศทรงกับทรุด สะท้อนถึงกำไร บจ.อย่างฝืด แถมเสียความเชื่อมั่นธรรมมาภิบาลอีก จับตายังไม่สะเด็ดน้ำ ที่เห็นเป็นแค่กลุ่มเทรดระยะสั้น มีหุ้นให้ขายอีกเพียบ เหตุต่างชาติยังถือครองหุ้นไทยระดับกว่า 30% หรือ 5.8 ล้านล้านบาท
*** ปี 56 - 66 ต่างชาติขายหุ้นไทย 9.8 แสนล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยปีนี้ (ข้อมูลถึง 8 ธ.ค.66) รวม SET และ mai ขายไปแล้ว 1.97 แสนล้านบาท ต่างจากปีก่อนแบบกลับขั้วที่ซื้อสุทธิ 1.97 แสนล้านบาท เช่นกัน
ขณะที่ย้อนดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2556 - 66 พบว่า เป็นการขายสุทธิรวมถึง 9.8 แสนล้านบาท ซึ่งมีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่มีสถานะเป็นซื้อสุทธิ (ปี 59 และ ปี 65) ที่เหลือขายสุทธิทั้่งสิ้น สูงสุด 2.88 แสนล้านบาทในปี 63 และมีการขายสุทธิต่อเนื่องติดต่อกันถึง 5 ปี (60 - 64)
ทั้งนี้ปี 56 - 66 นักลงทุนสถาบัน ซื้อสุทธิ 4.76 แสนล้านบาท, นักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 4.44 แสนล้านบาท และ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 6 หมื่นล้านบาท
*** แต่สัดส่วนถือครองวิ่งสวนทางพุ่งทำนิวไฮ
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า ณ สิ้นเดือน ส.ค.66 นักลงทุนต่างชาติกลับถือครองหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่ารวมกว่า 5.87 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30.5% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) รวมที่อยู่ระดับ 19.26 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 65 ถึง 14.95% หรือ 7.6 แสนล้านบาท ซึ่งปีที่ผ่านมาสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทยอยู่ที่ระดับเพียง 26.84% ของมาร์เก็ตแคปรวม
สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติถือครองเพิ่มขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย คือ...
1.การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นระหว่างปี 65-66
2.การเข้าถือครองหุ้นที่เข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) ซึ่งพบว่า หุ้นเข้าใหม่ตั้งแต่ เม.ย.65 - มี.ค.66 มีนักลงทุนต่างชาติถือครองถึง 45 บริษัท มูลค่ารวม 6.95 หมื่นล้านบาท
3.การถือครองหุ้นเพิ่มเติมจากการระดมทุนเพิ่มของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)
สำหรับ 5 หมวดธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติถือครองสูงสุด ประกอบด้วย
1.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 1.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.56%
2.พลังงานและสาธารณูปโภค มูลค่า 8.62 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.67%
3.ธนาคาร มูลค่า 8.29 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.11%
4.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มูลค่า 5.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.30%
5.พาณิชย์ มูลค่า 4.14 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.04%
*** กูรูชี้หุ้นไทยเสื่อมเสน่ห์
"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่า สาเหตุที่ต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลงทั้งในแง่เศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค สะท้อนโดยตรงไปถึงผลประกอบการ บจ. ขณะเดียวกันยังสูญเสียความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและธรรมมาภิบาลของ บจ.ไทยไปอีกพอสมควร จากหลายกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีหลัง
ด้าน "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล) ทิสโก้ ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลตอบแทนหุ้นไทยเกือบแย่ที่สุดในโลกติดลบเกิน 15% ทั้ง ๆ ที่ปีนี้ตลาดหุ้นอื่น ๆ ให้ผลตอบแทนเป็นบวก หลายที่มากกว่า 10% ทำให้ความน่าสนใจลดลง เม็ดเงินลงทุนต่างชาติจึงไหลออกต่อเนื่อง
"หุ้นไทยที่ลงมาต่ำกว่า 1,400 จุด ถือว่ามากเกินไป พอ ๆ กับ 2 วิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งช่วงซับไพรม์ และโควิด-19 แต่วันนี้ไม่ได้มีวิกฤตใหญ่แบบนั้น มีเพียงวิกฤตศรัทธา ที่ฉุดให้ดัชนีลดลงมาถึงระดับนี้ ทั้งกรณีทุจริตของผู้บริหารในหุ้นหลายบริษัท ทั้งคุณภาพการดำเนินงานที่ลดลงในหลายบริษัทจนขาดสภาพคล่องและผิดชำระหนี้ รวมถึงภาวะหุ้นไอพีโอที่ไม่สู้ดีนัก และเรื่องดอกเบี้ยที่ดึงเม็ดเงินลงทุนระยะยาวออกไปอีก ทำให้ตลาดหุ้นไทยขาดความน่าสนใจและผันผวนหนักในช่วงนี้"
ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยขาดความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ด้วยดัน ทำให้มีแรงขายของนักลงทุนต่างชาติออกมาอย่างต่อเนื่อง โดย GDP ของประเทศ เติบโตแทบจะอยู่ในระดับที่ต่ำสุดของภูมิภาค ขณะที่หุ้นในตลาดก็ไม่มีธุรกิจใหม่ ๆ มาดึงดูดความสนใจให้เข้าลงทุน และยังมีเรื่องธรรมมาภิบาลมาฉุดความเชื่อมั่นอีก
*** เชื่อยังไม่สะเด็ดน้ำ แถมมีของให้ขายอีกเพียบ
"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ประเมินต่อไปว่า การขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงหลัง เป็นเพียงตัวเลขสุทธิที่หักลบจากการซื้อและขายจากกลุ่มเทรดระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าหลายปีหลังโปรแกรมเทรดเข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นไทย และผู้ที่ใช้โปรแกรมเทรดคือนักลงทุนต่างชาติ ถามว่าเอาหุ้นที่ไหนมาขายกันขนาดนี้ ก็เกิดจากการซื้อ ๆ ขาย ๆ ในแต่ละวันนั่นแหล่ะ ไม่ใช่เอาหุ้นที่ถือระยะยาวมาขาย
สะท้อนจากสัดส่วนการถือครองรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นในตอนนี้แม้จะขายสุทธิมาทั้งปีรวมแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท แต่คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนที่ถือครองกว่า 5.8 ล้านล้านบาท หากไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามาเสริมก็จะยังขายกันแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง และมีของให้ขายอีกมหาศาล
ด้าน "กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุว่า แม้นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกไปอย่างต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา แต่เป็นการซื้อ ๆ ขาย ๆ เปลี่ยนกลุ่มธุรกิจเล่นไปเรื่อย ๆ หาจังหวะซื้อถูก และขายทำกำไรเมื่อราคาขึ้น พอมีแรงขายราคาลงมาก็เข้าไปซื้อใหม่เพื่อรอทำกำไรรอบต่อไป
ตอบได้ยากว่าสะเด็ดน้ำหรือยัง แม้ 1-2 เดือนนี้อาจจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาได้บ้างจากอีเวนต์พิเศษการเปิดขายกองทุน TESG แต่ก็อาจจะพลิกกลับมาขายได้อีกในระยะถัดไป เพราะมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และผลประกอบการ บจ.
เช่นเดียวกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ที่ประเมินว่า ปกติสถิติย้อนหลังจะพบว่าช่วงเดือน ต.ค. - ม.ค.ปีถัดไปจะมีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทย แต่ปีนี้กลับพบว่า ยังไม่มีเม็ดเงินไหลเข้ามาเลย ทำให้ประเมินภาพได้ยากว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน
อย่างไรก็ตามระยะสั้นอาจจะเห็นมีแรงซื้อกลับสลับเข้ามาบ้าง เพราะหุ้นไทยหลายบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มบิ๊กแคปราคาปรับตัวลดลงมากเดินไป จน Valuation เริ่มน่าสนใจแล้ว แต่ก็ต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจการเติบโตของประเทศไทยและผลประกอบการของ บจ.ประกอบด้วย หากต่ำกว่าคาดการณ์ อาจจะมีแรงขายซ้ำเข้ามาอีกได้
*** เน้นเลือกหุ้นรายตัว พื้นฐานดี-มีปันผล ปลอดภัยกว่า
"กรรณ์ หทัยศรัทธา" แนะนำกลยุทธ์การลงทุน ให้สะสมหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโต และมีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ เพราะเป็นเป้าหมายของกองทุนและนักลงทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันควรหลีกเลี่ยงหุ้นในกลุ่มที่มีการออกหุ้นกู้จำนวนมาก อาทิ อสังหาฯ และสินเชื่อ เพราะต้องแบกต้นทุนดอกเบี้ยสูง
ด้าน "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ประเมินว่า จากนี้ไปการลงทุนระยะสั้นเพื่อหวังเก็งกำไรเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแล้ว ให้เน้นลงทุนระยะยาว มองหาหุ้นปันผลสูง ปัจจัยพื้นฐานดี และถือสะสมระยะยาว จะมีความเสี่ยงต่ำกว่า หรืออีกธีม คือ ลงทุนในหุ้นที่ล้อไปกับกระแส ESG
ปิดท้ายที่ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" แนะนำ เลือกหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตในระยะถัดไป ถือลงทุนระยะกลาง - ยาว จะเป็นกลยุทธ์ที่ปลอดภัยกว่าการลงทุนระยะสั้นเพื่อหวังเก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น
------------------------
ประเด็นร้อน, ต่างชาติขายหุ้นไทย, SET Index, Fund Flow, หุ้นปันผล