วอลุ่มเทรดตลาดหุ้นไทยเดือนแรกปี 67 ยังลดลงต่อเนื่อง เฉลี่ย 4.5 หมื่นลบ./วัน ต่ำสุดรอบ 5 ปี วงการยังมองปัญหาเดิมทั้งความเชื่อมั่นธรรมภิบาลตลาดหุ้น - ศก.จ่อโตต่ำกว่าคาด ฉุดความเชื่อมั่นทำนักลงทุนหาย รับกระทบรายได้โบรกฯเต็ม ๆ แต่เชื่อยังเอาตัวรอดได้เพราะมีการกระจายรายได้ - คุมต้นทุนอย่างเข้มงวด มั่นใจวอลุ่มเทรดยังมีลุ้นฟื้นกลับมาแตะ 7 - 8 หมื่นลบ/วันได้ ในระยะถัดไป !
*** วอลุ่มเทรดต้นปี 67 ยังวูบต่อเนื่อง
ข้อมูลการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ยังคงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งเดือนมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน ลดลงอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่ 5.1 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน ของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 63 อีกด้วย โดยช่วงดังกล่าวเป็นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วันสูงกว่าช่วงนี้ อยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท โดยปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วันที่ต่ำกว่าระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท ต้องย้อนไปไกลถึงปี 58 ที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน อยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท
*** ความเชื่อมั่นยังไม่ฟื้น กดวอลุ่มเทรดหด
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และ กรรมการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นลดลง เพราะยังคงติดปัญหาเดิม ๆ คือ เรื่องความเชื่อมั่น ทั้งความเชื่อมั่นธรรมภิบาลในตลาดหุ้นเอง และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังดูไม่มีทิศทางเติบโตดีขึ้นสักเท่าไร
สะท้อนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ยังไม่มีออกมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เห็นภาพการฟื้นตัวมากนัก จึงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงหายไปจากตลาดหุ้นในภาวะแบบนี้
สอดคล้องกับ "กัณฑรา ล ดาวัน ณ อยุธยา" กรรมการบริหาร บล.ฟีนันเซีย ไซรัส ที่มองว่า ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นลดลง เนื่องจากยังมีความกังวลของนักลงทุนทั้งเรื่องธรรมาภิบาลตลาดหุ้น และการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มีความไม่แน่นอนว่าจะเป็นไปตามการคาดการณ์เดิมระดับราว 3% หรือไม่ สะท้อนจากการที่ยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐเลย
ส่วน "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เสริมว่า ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นที่ลดลงในปัจจุบัน ปัจจัยกดดันหลักยังเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่นโปรแกรมเทรด และการขายชอร์ตที่ลดความเชื่อมั่นสำหรับนักลงทุนรายย่อยลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
*** บิ๊กโบรกฯรับกระทบรายได้ มองงบครึ่งหลังปี 66 แย่ต่อ
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" กล่าวว่า ในช่วงที่ปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นลดลง ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของโบรกเกอร์ต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ยังมีรายได้หลักจากค่าคอมมิชชั่นเป็นหลัก สะท้อนจากผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 66 ที่ไม่ดีเลย ขณะที่ครึ่งหลังของปี 66 ปริมาณการซื้อขายก็ยังคงลดลงต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ผลการดำเนินงานครึ่งหลังปี 66 ย่ำแย่ลงไปอีก
เช่นเดียวกับ "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ที่ยอมรับว่า ปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นที่ลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของโบรกเกอร์แน่นอน เพราะส่วนใหญ่รายได้หลัก ยังมาจากค่าคอมมิชชั่นทั้งนั้น แต่ถ้าโบรกเกอร์ไหนมีการกระจายรายได้ไปทำอย่างอื่นด้วยก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด
*** แม้วอลุ่มเทรดลด แต่ยังไม่กระทบ NCR
ด้านภาพรวมเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ของโบรกเกอร์ "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ระบุว่า ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นที่ลดลงแม้จะส่งผลต่อรายได้ของโบรกเกอร์บ้าง แต่ไม่กระทบต่อ NCR เพราะกองทุนดังกล่าวจะมีปัญหาตอนปริมาณการซื้อขายสูง ๆ เท่านั้น รวมถึงตอนที่ธุรกิจโบรกเกอร์ประสบปัญหาขาดทุนมาก ๆ ซึ่งภาพในปัจจุบันยังไม่ถึงขนาดนั้น
ส่วน "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" มองไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมเสริมว่า กลุ่มที่อาจจะเสี่ยงคือโบรกเกอร์ที่ปล่อย Margin Loan ในระดับมาก ๆ เพราะในภาวะที่ตลาดผันผวนและลูกค้าขาดสภาพคล่อง อาจจะทำให้มีปัญหาได้
*** โบรกฯชี้ต้องคุมค่าใช้ - กระจายรายได้เอาตัวรอด
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ระบุว่า ด้วยภาวะปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ค่าคอมมิชชั่นต่ำ แถมปริมาณซื้อขายยังต่ำด้วย ทำให้การประคองธุรกิจในช่วงนี้ต้องให้ความสำคัญที่ภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นพิเศษ
"อย่างไรก็ตาม เราได้ใช้ช่วงนี้สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงเป็นช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรอจังหวะที่ความเชื่อมั่นกลับมา จะเป็นช่วงที่เราสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างทันท่วงที สำหรับ บล.ทิสโก้ ยังคงมีรายได้หลักจากธุรกิจโบรกเกอร์ราว 80% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนอีกราว 20% เป็นธุรกิจอื่น ๆ โดยเราไม่ได้มีการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่น ๆ มากนัก เพราะธุรกิจของเรายังเป็นขนาดเล็กอยู่" " ไพบูลย์ กล่าว
ฟาก "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" กล่าวว่า บล.เอเซีย พลัส มีการกระจายรายได้ไปในหลาย ๆ ธุรกิจ จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทำให้สามารถประคองตัวได้ดีในช่วงที่ปริมณการซื้อขาย - ค่าคอมมิชชั่นต่ำแบบนี้ โดย สัดส่วนรายได้ของ บล.เอเซีย พลัส ประกอบด้วย ธุรกิจโบรกเกอร์ 40% เวลท์ 35% และ วาณิชธนกิจ และอื่น ๆ อีก 25%
ด้าน "กัณฑรา ล ดาวัน ณ อยุธยา" เสริมว่า ในช่วงที่ตลาดมีการแข่งขันสูง - ค่าคอมมิชชั่นต่ำ แถมปริมาณการซื้อขายยังลดลงอีก ยังไม่ใช่เรื่องน่าเป็นกังวลสำหรับการดำเนินงานของโบรกเกอร์เท่าไรนัก เนื่องจากในอดีตก็มีการแข่งขันที่สูงมาตลอดอยู่แล้ว โดยบล.ฟินันเซีย ไซรัส ก็มีการกระจายรายได้อย่างเหมาะสม และมีธุรกิจให้บริการนักลงทุนแบบครบวงจร จึงมั่นใจว่าจะสามารถเอาตัวรอดไปได้
*** ยังเชื่อวอลุ่มเทรดจะฟื้นได้ในระยะถัดไป
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ระบุว่า แม้ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นในช่วงนี้จะลดลง แต่ก็ยังไม่ได้มีความเป็นกังวลมากนัก เนื่องจากหากมองไปข้างหน้าก็ยังมีโอกาสที่ปริมาณการซื้อขายจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ สะท้อนจากสถิติในอดีตที่เคยทำได้เฉลี่ยราว 7 - 8 หมื่นล้านบาท/วัน
ขณะที่ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยก็มีขนาดใหญ่ขึ่นกว่าในช่วงดังกล่าวค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น การที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับไปมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน หลัก 7 - 8 หมื่นล้านบาทเหมือนในอดีต ถือว่าไม่ใช่เรื่องยากอะไรนัก เพียงแต่ต้องรอให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาเสียก่อน
นอกจากนี้ รัฐบาลก็เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน จึงยังต้องให้เวลาในการออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจอีกสักระยะ เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว เชื่อว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้ และจะทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ
สอดคล้องกับ "กัณฑรา ล ดาวัน ณ อยุธยา" ที่มองว่า ปริมาณการซื้อขายในระยะถัดไป ยังมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นได้ เพราะปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยนโยบายทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นขาลงบ้างแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยลงครั้งแรกของปีนี้ช่วงกลางปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับ P/E ตลาดหุ้นไทยล่าสุด ก็อยู่ในโซนที่ถูกมากแล้ว ยิ่งเป็นอีก 1 ปัจจัย ที่จะช่วยส่งเสริมอีกทาง