ตลท.เตรียมยกระดับมาตรการคุมเข้ม Short Sell - โปรแกรมเทรด - เปิดเผยข้อมูล โบรกฯผสานเสียงมองเป็น"บวก"หนุนเชื่อมั่นฟื้น กางสถิติหุ้น ตปท. หลังคุม Short Sell หนุนดัชนีพุ่งสูงสุด 13% ส่วนใหญ่มองเกณฑ์ยกระดับ HFT - เปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้น NVDR สร้างความโปร่งใส - เรียกความเชื่อมั่นได้มากสุด !
*** ตลท.เตรียมยกระดับมาตรการคุมเข้มหุ้นอีกรอบ
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้นำผลการศึกษากฎหมาย, กฎเกณฑ์ และแนวทางการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯชั้นนำในต่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลการขายชอร์ต (Short Selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนทุกประเภทนั้น
ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติม เพื่อที่จะยกระดับการกำกับดูแลการขายชอร์ต และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขายหรือโปรแกรมเทรด พร้อมทั้งการปรับเพิ่มมาตรการการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ดังนี้
*** เปิดมาตการควบคุม Short Sell แบบใหม่
1.ทบทวนคุณสมบัติของหลักทรัพย์ที่ Short Sell ได้ คือ ต้องเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท (เดิม 5,000 ล้านบาท) และมีปริมาณซื้อขาย/เดือน เทียบปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) มากกว่า 2%
2.ควบคุมผลกระทบอันเกิดจาก Short Sell คือ หากราคาหุ้นปรับตัวลงมากกว่า 10% จากวันก่อนหน้า เริ่มใช้เกณฑ์ uptick rule, เพิ่มเพดานสูงสุดในการ Short Sell รายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน และเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลเป็นรายวัน สำหรับหุ้นที่ถูก Short Sell ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน
3.เพิ่มโทษสมาชิก คือ โบรกเกอร์ที่กระทำความผิดจะต้องระวางโทษปรับเพิ่มจากเดิม 3 เท่า พร้อมนำเสนอแก้ไขกฏหมาย เพื่อลงโทษผู้ลงทุนที่กระทำความผิดโดยตรง
4.พัฒนาระบบกลางเพื่อตรวจสอบหลักทรัพย์ คือ จัดให้มีแหล่งข้อมูลกลางสำหรับโบรกเกอร์ และตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อกำกับดูแล Short Sell ได้ดีขึ้น
*** เปิดมาตรการกำกับดูแลโปรแกรมเทรดแบบใหม่
1.ป้องกันราคาผันผวนผิดปกติ คือ เพิ่มเกณฑ์คุมความผันผวนราคาหุ้นระหว่างวัน นอกเหนือ Ceiling/Floor โดยเพิ่มเพดานระหว่างวันกำหนเกรอบไว้ที่ (+/-10%) จากราคาซื้อขายล่าสุด ซึ่งหากถึงราคาดังกล่าวจะหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว
2.กรณีราคาหุ้นผันผวนมาก อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีซื้อขายหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับซื้อขายแบบ call auction
3.กำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม คือ เพิ่มคำสั่งซื้อขายที่มีผลกระทบต่อตลาดทั้งในเชิงปริมาณและราคา รวมทั้งจัดทำระบบกลางคัดกรองคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งป้องกันไม่ให้ถอนคำสั่งซื้อขายที่ถี่จนเกินไปอย่างน้อย 0.6 วินาที
4.ยกระดับดูแลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูง (HFT) คือ เพิ่มความข้มงวดกลุ่มผู้ลงทุน เช่น ต้องมีการเเจ้งหรือขึ้นทะเบียน พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
*** ส่องเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลแบบใหม่
1.เปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ลงทุนที่มีพฤติกรรมส่งคำสั่งซื้อขายไม่เหมาะสม คือ ให้สมาชิกใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาผู้ลงทุน เช่น ปรับลดวงดงิน หรือต้องซื้อขายผ่านผู้แนะนำการลงทุน
2.ปรับปรุงเกณฑ์เปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ครอบคลุมกรณีการถือ NVDR คือ กำหนดให้บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ (ฐานะผู้ออก NVDR) ตั้งแต่ 0.5% แต่ไม่น้อยกว่า 10 ราย เช่นเดียวกับการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทจดทะเบียน
ทั้งนี้ หลังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นดังกล่าว ขั้นตอนต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น (hearing) จากผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะนำไปปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะนำเสนอต่อ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่กำหนดไว้
*** โบรกฯมอง"บวก"มาตรการใหม่ หนุนเชื่อมั่น
"กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองเป็น"บวก"ต่อมาตรการยกระดับความเชื่อมั่นใหม่ของ ตลท. ประเมินว่า หากมาตรการใหม่มีการบังคับใช้จริงจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
สอดคล้องกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า ที่ระบุว่า การยกระดับมาตรการควบคุมตลาดหุ้นใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดได้บ้างไม่มากก็น้อย และคาดจะส่งผลให้ความผันผวนของตลาดในระยะถัดไปลดลงบ้าง และยังมองว่าเป็นปัจจัยช่วยจำกัด Downside ของตลาดได้ อีกด้วย
เช่นเดียวกับ "ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์" นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ที่ประเมินว่า การยกระดับเกณฑ์ข้างต้นของตลาดหลักทรัพย์ฯผลบวกระยะสั้นจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้
อีกด้านอาจทำให้มีการ Cover Short โดยเฉพาะหุ้นที่ปริมาณ Shot Sales สูงที่ราคา Underperform ตลาดและไม่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขหุ้นที่สามารถ Short Selling ได้ ตามเกณฑ์ใหม่นี้ ขณะที่ ผลบวกในระยะกลาง - ยาว จะช่วยลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้นได้ด้วย
ส่วน "กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้จะยังไม่มีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้จริง แต่ความพยายามเพิ่มการกำกับดูแลการขายชอร์ต และการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นบวกกับบรรยกากาศลงทุนในตลาดหุ้น
*** กูรูเผยสถิติหลังคุม Short Sell หนุนหุ้นพุ่ง
"สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นจีนที่เข้าไปควบคุมธุรกรรม Short Sell หรือการให้ยืมหุ้นมา Short โดยตรง และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่มีการห้าม Short Sell ตั้งแต่เดือน พ.ย.66
พบว่าดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นแล้ว 12% หลังทางการมีมาตรการห้าม Short Sell เมื่อวันที่ 3 พ.ย.66 ส่วนตลาดหุ้นจีน และฮ่องกง ก็ปรับตัวขึ้นกว่า 10 - 13% จากจุดต่ำสุดในไตรมาส 1/67 หลังทางการเข้ามาควบคุมธุรกรรมดังกล่าว
*** "กรภัทร"กางข้อดี 3 ส่วน ที่จะได้รับ
"กรภัทร วรเชษฐ์" กลับมากล่าวต่อว่า หากมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องการยกระดับการควบคุมในมิติต่าง ๆ สามารถผ่านการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและสามารถใช้ได้จริง จะเกิดประโยชน์ ดังนี้
1.มาตรการ Short Selling ในส่วนการพัฒนาระบบตรวจสอบการมีอยู่จริงของหลักทรัพย์ จะช่วยยกระดับความเชื่อมั่น และป้องกัน Naked Short ได้ อีกทั้งคาดว่าจะช่วยลดระดับปริมาณ Short Selling ลง และสร้างความโปร่งใสในส่วนธุรกรรม Short Selling มากขึ้น โดยเป็นไปตามปริมาณที่มีอยู่จริงของหลักทรัพย์ต่าง ๆ
2.มาตรการควบคุมโปรแกรมเทรด จะทำให้ระดับความผันผวนการเก็งกำไรในตลาดมีปริมาณลดลง ทำให้การลงทุนของนักลงทุนจะโฟกัสที่พื้นฐานธุรกิจได้ดีขึ้นกว่าการที่ต้องติดตามความผันผวนรายวัน เพื่อบริหารความเสี่ยงราคาหุ้นที่ผันผวนระยะสั้น และหุ้นสะท้อนมูลค่าธุรกิจที่เป็นการลงทุนเพื่อระยะกลาง-ยาว
3.การเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใสจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน มองมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ SET ก้าวข้ามผ่าน 1,400 จุด และฟื้นตัวทดสอบบริเวณ 1,440 จุดภายใน 1 เดือน
*** ส่วนใหญ่มองยกระดับ HFT - NVDR เรียกเชื่อมั่นดีสุด
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กลับมากล่าวต่อว่า ในบรรดาเกณฑ์ใหม่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะออกมานั้น โดยส่วนตัวชอบการยกระดับดูแลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งด้วยความเร็วสูงมากที่สุด เนื่องจากเกณฑ์ใหม่จะต้องมีการเข้าไปลงทะเบียน ทำให้ตลาดหุ้นจะมีภาพที่โปร่งใสในส่วนนี้มากขึ้น และทำให้นักลงทุนรายย่อยมีความเชื่อมั่นด้วย
สอดคล้องกับ "วิกิจ ถิรวรรณรัตน์" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง ที่เสริมว่า ส่วนตัวก็ชอบการยกระดับ HFT เหมือนกัน เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีการนำโรบอทเทรดเเบบเถื่อนเข้ามาใช้กันค่อนข้างมาก ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่จะระบุตัวตนของคนที่ใช้โปรแกรมเทรดแบบเถื่อน และทำการป้องกัน
ดังนั้น หากมีการกำหนดให้ขึ้นทะเบียน ทุกคนก็จะสามารถรู้ได้ว่า ใครที่เป็นคนใช้โปรแกรมเทรด และหากมีการนำมาใช้ในทางที่ไม่ดีก็สามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที อีกทั้ง ยังชอบมาตรการให้เปิดเผยรายชื่อ NVDR ด้วย เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้มีใครใช้เป็นช่องโหว่สำหรับทำสิ่งไม่ดีกับหุ้นแต่ละบริษัท อีกด้วย
เช่นเดียวกับ "สุนทร ทองทิพย์" ที่ระบุว่า สำหรับมาตรการยกระดับการควบคุมตลาดหุ้นล่าสุดขอตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยส่วนตัวชอบเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อ NVDR มากที่สุด เนื่องจากจะสามารถทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น และรู้ว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว ซึ่งเดิมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นนั้น ทำให้เป็นช่องโหว่ที่ผู้มีวัตถุประสงค์ไม่ดีใช้งานได้