efinancethai

ประเด็นร้อน

เปิดโผ 11 หุ้น รับอานิสงส์เงินเฟ้อสูงรอบ 13 ปี

เปิดโผ 11 หุ้น รับอานิสงส์เงินเฟ้อสูงรอบ 13 ปี

พบ 11 บจ.รับอานิสงส์เงินเฟ้อ หุ้นอาหาร - พลังงานต้นน้ำติดโผเพียบ เหตุเป็นต้นตอเงินเฟ้อรอบนี้ ยก CPF แจ่มสุด ส่วน ASIAN อัพไซด์สูงสุด 26.77% ขณะที่ โบรกฯมอง เงินเฟ้อ 3 เดือนจากนี้ ยังสูงกว่าระดับ 7% อาจต้องหั่นเป้า SET Index ปี 65 ชี้สินค้าฟุ่มเฟือยเตรียมรับผลกระทบ ผู้บริโภคชะลอซื้อ
 

*** เงินเฟ้อเดือน พ.ค. สูงสุดรอบ 13 ปี
 

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 106.62 ปรับตัวขึ้น 7.1% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 ปี สาเหตุหลัก เกิดจากราคาพลังงาน และ อารหารปรับตัวสูงขึ้น

โดยราคาพลังงาน ปรับตัวขึ้น 37.24% ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น จาการทำสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย กับ ยูเครน ส่วนราคากลุ่มอาหาร ปรับตัวขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อไก่ และ สุกร ที่ปรับตัวขึ้น ตามต้นทุนการเลี้ยงที่อยู่ในระดับสูง


*** พบ 11 หุ้น รับอานิสงส์เงินเฟ้อ
 

อย่างไรก็ตาม "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจกลยุทธ์การลงทุนของโบรกเกอร์ทั้งหมด 4 แห่ง พบว่า มี 11 บจ.ที่ถูกนักวิเคราะห์มองว่า จะได้รับอานิสงส์จากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบด้วย 
 

4 โบรกฯชี้เป้า 11 หุ้น รับอานิสงส์เงินเฟ้อ

บล.

ชื่อย่อหุ้น

ราคาเหมาะสม (บ.)

%อัพไซด์*

ไอร่า

ASIAN

20.79

26.77

TU

21.38

23.58

TFG

6.11

16.38

CPF

30

14.29

GFPT

18

5.88

ยูโอบีฯ

BANPU

16.5

25.95

BCH

23.4

21.24

BDMS

28.5

14.00

OR

31

12.73

เคทีบีฯ

BANPU

16

22.14

ASIAN

19.5

18.90

CPF

30

14.29

PTTEP

190

11.44

GFPT

17.8

4.71

เอเชีย พลัส

CPF

32

21.90

TFG

6

14.29

KSL

4.5

9.22

*อัพไซด์เทียบราคาปิด 8 มิ.ย.65


*** กูรูชี้ หุ้นอาหารรับอานิสงส์สูงสุด
 

11 บจ.ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในดัชนี SET100 จำนวน 8 บริษัท โดยกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ติดโผสูงสุด จำนวน 4 บริษัท รองลงมา คือ กลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค ติดโผ จำนวน 3 บริษัท  

"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้หุ้นกลุ่มส่งออกอาหารต้นน้ำ ได้รับอานิสงส์จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสูงสุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถกำหนดทิศทางราคาได้เอง ตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แตกต่างจากกลุ่มอาหารที่เป็นกลุ่มปลายน้ำ ที่ไม่สามารถกำหนดราคาได้ ก็จะกระทบต่อต้นทุนผลิต และ ส่งผลต่ออัตราการทำกำไร

อย่างไรก็ตาม การปรับราคาขายสินค้าขึ้น อาจส่งผลต่อยอดขายที่ลดลงบ้างเล็กน้อย แต่มองว่า ไม่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน เนื่องจากการปรับราคาขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ จะมีการปรับขึ้นในทุกสินค้าอยู่แล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกมากนัก ยกเว้นลดการบริโภคลง 

"สมมติราคาเนื้อหมูขึ้นตามเงินเฟ้อ โดยปกติราคาสินค้าทดแทนไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ หรือ อื่นๆ ก็ต้องปรับตามขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่กระทบต่อยอดขายของบริษัทมากนัก เพราะอย่างไรผู้บริโภคก็ยังคงต้องการอาหารในชีวิตประจำวัน เพียงแต่อาจลดปริมาณลงเท่านั้น" ณรงค์เดช กล่าว
 

*** โบรกฯยก CPF แจ่มสุดธีมเงินเฟ้อ
 

บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เป็นบริษัทที่มีนักวิเคราะห์แนะนำตรงกันมาที่สุด 3 แห่ง เนื่องจากมองว่า เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารต้นน้ำรายใหญ่ จึงทำให้สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยปัจจุบัน ราคาหุ้น CPF มีอัพไซด์ระหว่าง 14.29 - 21.90% 

ขณะที่ มีอีก 4 บริษัท ที่โบรกเกอร์แนะนำตรงกัน 2 แห่ง ประกอบด้วย บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN) เนื่องจากสภาพธุรกิจมีความยืดหยุ่น และ สามารถปรับราคาขายตามอัตราเงินเฟ้อได้ โดยปัจจุบัน ราคาหุ้น ASIAN มีอัพไซด์ระหว่าง 18.90 - 26.77%

ด้าน บมจ.บ้านปู (BANPU) ถูกมองว่า ได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นเจ้าของแหล่งพลังงาน และ ราคาพลังงานที่สูงขึ้นในรอบนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งต้นตอสำคัญ ของเงินเฟ้อในครั้งนี้ด้วย โดยปัจจุบัน ราคาหุ้น BANPU มีอัพไซด์ระหว่าง 22.14 - 25.95%

ฟาก บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) ถูกมองว่า ได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อ เนื่องจากสภาพธุรกิจมีความยืดหยุ่น และ สามารถปรับราคาขายตามอัตราเงินเฟ้อได้ โดยปัจจุบัน ราคาหุ้น TFG มีอัพไซด์ระหว่าง 14.29 - 16.38%

ส่วน บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ถูกมองว่า ได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อ เนื่องจากสภาพธุรกิจมีความยืดหยุ่น และ สามารถปรับราคาขายตามอัตราเงินเฟ้อได้เช่นกัน โดยปัจจุบัน ราคาหุ้น TFG มีอัพไซด์ระหว่าง 4.71 - 5.88 %
 

*** พบอีก 2 บจ. อัพไซด์ยังสูงกว่า 20%
 

ขณะเดียวกัน ยังมีอีก 2 บริษัท ที่ราคาหุ้น มีอัพไซด์มากกว่า 20% ประกอบด้วย บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ราคาหุ้น มีอัพไซด์ 23.58% และ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ราคาหุ้น มีอัพไซด์ 21.24%
 

*** เงินเฟ้ออาจสูงกว่า 7% กดหุ้นต่อเนื่อง

 
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส มองว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วง 3 เดือน ข้างหน้า (มิ.ย.-ส.ค.65) มีแนวโน้มงสูงกว่าระดับ 7% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อกลับมาดูที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในปัจจุบันแล้ว มีความเป็นไปได้มาก ที่จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งละ 0.25% มากกว่า 1 ครั้ง ในรอบการประชุมถัดไป

ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไทย (SET Index) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งฝ่ายวิจัยฯ กำหนดเป้าหมายด้วยวิธี Market Earning Yield Gap ที่ระดับ 4.4% ซึ่งหาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง ที่ระดับ 0.25% เป้าหมาย SET Index ปี 65 ของ บล.เอเซีย พลัสจะลงมาอยู่ที่ 1,722 จุด (เดิม 1,810 จุด)

สอดคล้องกับ "มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อการลงทุน คือ จะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในตลาดทุนลดลง ส่งผลให้ปริมาณ หรือ มูลค่าการลงทุนในช่วงดังกล่าวลดลง ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางด้วย
 

*** ชี้สินค้าฟุ่มเฟือย จ่อโดนผลกระทบ
 

"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กลับมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากจะกระทบต่อภาคประชาชน ในแง่ทำให้สินค้าแพงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ที่อาจถูกชะลอการซื้อลงในช่วงดังกล่าว 

ส่วน "มงคล พ่วงเภตรา" ปิดท้ายว่า  ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นอกจากจะกระทบต่อภาคประชาชนในแง่สินค้าแพงขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ค่าใช้จ่ายครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน กลับทำให้เงินเก็บภาคครัวเรือนลดลง ตามภาระค่าใช้จ่ายอาหาร และ ค่าเดินทางที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด