SABUY ส่อแววป่วย งบปี 66 พลิกขาดทุน เงินสดในมือหรือรายการเทียบเท่าเหลือแค่ 561 ล้านบาท ส่วนแคชจากการดำเนินงานติดลบกว่า 1.26 พันล้านบาท แต่มีหุ้นกู้จ่อครบดีลเฉียด 4 พันล้านบาท ประเดิมชุดแรก 1.5 พันล้านบาท ธ.ค.นี้ ด้าน "ซีอีโอ" ยันมีเงินคืนหนี้แน่ แม้ไม่ใช้สิทธิ Rollover เผยมีวงเงินกู้ระยะสั้น-เงินลงทุน-เงินสด เพียงพอ !
*** พบมีหนี้หุ้นกู้จ่อครบดีลปี 67-68 เฉียด 4 พันลบ.
สถานการณ์ล่าสุดของ บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ถือว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะปัจจุบัน SABUY มีหนี้จากหุ้นกู้ที่รอชำระอีก 4 รุ่น รวมกว่า 3,991.50 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ชุดแรกที่จะครบกำหนดชำระรออยู่วันที่ 30 ธ.ค.67 มูลค่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ย 6.25%/ปี
ส่วนหุ้นกู้อีก 3 ชุดที่เหลือ แบ่งออกเป็นครบกำหนดชำระปี 68 จำนวน 2 รุ่น ภายใน 7 เม.ย. และ 17 ส.ค.68 มูลค่ารวมกัน 2,295.80 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 6.25 - 6.45%/ปี และชุดสุดท้ายครบกำหนด 21 พ.ค.69 จำนวน 195.70 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 6.45%/ปี
*** พบมีเงินสดแค่ 561 ลบ. ไร้แผน Roll Over หุ้นกู้
อย่างไรก็ตาม สถานะการเงินล่าสุด SABUY มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเหลือเพียง 561.85 ล้านบาท อีกทั้ง เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงานยังติดลบ 1,259.91 ล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ กันขึ้นมาบ้าง เพราะเมื่อเทียบกับเงินที่มีกับหนี้ที่รอ มันไม่ค่อยบาลานซ์กันสักเท่าไหร่
อีกทั้ง "วิรัช มรกตกาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABUY ยังออกมาเปิดเผยอีกว่า SABUY อาจจะไม่พิจารณาออกหุ้นกู้ใหม่ (Rollover) เนื่องด้วยสถานการณ์การออกหุ้นกู้ในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย ยิ่งจุดฉนวนให้นักลงทุนเริ่มมีความกังวลมากขึ้น ว่า SABUY จะหาเงินจะแหล่งไหนเพื่อมาชำระคืนหุ้นกู้ เพราะเงินสดในมือบริษัท อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหนี้หุ้นกู้
หรือหากจนแล้วจนรอด ดิ้นจนหาเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ชุดแรกที่จะครบดีลในเดือน ธ.ค.นี้ ได้ แต่ก็ยังมีหุ้นกู้อีก 2 ชุด ที่รอชำระต่อในปี 68 ซึ่งมีระยะเวลาห่างจากหุ้นกู้ชุดเเรกเพียง 4 เดือนเท่านั้น
*** ผลประกอบการพลิกขาดทุน-เงินสดดำเนินงานติดลบ
ขณะที่ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเริ่มเป็นกังวลมากขึ้น นั่นเพราะเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานของ SABUY ติดลบ 1,259.91 ล้านบาท อีกทั้งผลการดำเนินงานปี 66 ก็ดันพลิกรายงานขาดทุนสุทธิ 189.83 ล้านบาท เทียบปีก่อนมีกำไรสุทธิถึง 1,482.11 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนดังกล่าว ยังถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกของ SABUY นับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อปลายปี 63 อีกด้วย
พอพลิกขาดทุนครั้งแรกปุ๊ป ก็เริ่มมีคนตั้งข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่า หรือจริง ๆ แล้วที่ผ่านมา SABUY มีการแต่งงบการเงินแหกตานักลงทุนมาตลอด เหมือนกับอภิมหากาพย์ของบริษัทแห่งหนึ่งที่เคยสร้างเรื่องฉาวกระฉ่อนทำนองนี้มาแล้ว
ซึ่ง "วิรัช มรกตกาล" ก็รีบออกมาชี้แจงต่อประเด็นนี้ทันทีว่า SABUY ไม่เคยมีการแต่งงบการเงินอย่างแน่นอน เพราะถ้าหากทำจริงผลการดำเนินงานปี 66 คงไม่ออกมาขาดทุน ซึ่งเป็นผลจากการขายเงินลงทุนและรับรู้ขาดทุนจากการสวอปหุ้นบริษัทแห่งหนึ่ง หลังภาวะตลาดหุ้นตกต่ำ ประกอบกับ เศรษฐกิจไม่ดี
*** ราคาหุ้นดิ่งเดือดต่ำสุดถึง 62.76%
อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่นักลงทุนมีต่อหุ้น SABUY ก็ได้ถูกสะท้อนผ่านราคาหุ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังราคาหุ้น SABUY ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา (5 วันทำการ) ปรับตัวลงอย่างน่าตกใจถึง 50.90% โดยราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดเมื่อ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยราคา 1.75 บาท/หุ้น ลดลงจากช่วงต้นเดือนถึง 62.76%
ขณะที่ช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ราคาหุ้น SABUY ก็ปรับตัวร่วงติดฟลอร์ (Floor) ต่อเนื่อง 2 วันทำการ อีกด้วย
นอกจากนี้ "วิรัช มรกตกาล" ยังเปิดเผยถึงอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น SABUY ช่วงที่ผ่านมา รูดลงอย่างน่าสยอง ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกบังคับขาย (Forced Sell) ด้วยนั่นเอง
"ผู้ถือหุ้นใหญ่ถูกฟอร์ซเซล ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ เพราะเป็นพอร์ตที่เราไม่รู้ว่ามีมาร์จิ้นหรือจะถูก Call ที่เท่าไหร่ สิ่งเดียวที่ SABUY จะทำคือ พยายามเรียกความเชื่อมั่นให้ธุรกิจว่าจะเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งบางธุรกิจที่ SABUY ถืออยู่ 100% ผมอาจจะยอมถือเหลือ 60-70% เพื่อให้มีคนเข้ามาช่วยเรื่องกระแสเงินสด ซึ่งเราต้องแก้ไขจากการทำงานและพิสูจน์" วิรัช กล่าว
*** บิ๊ก SABUY ยันมีเงินมาชำระชัวร์ !
"วิรัช มรกตกาล" กลับมากล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตาม SABUY จะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้คืนหนี้หุ้นกู้ที่ใกล้จะครบกำหนดเดือน ธ.ค.นี้ จำนวน 1,500 ล้านบาท อย่างแน่นอน
"หากพิจารณางบแสดงฐานะการเงินเฉพาะกิจการของ SABUY ณ วันที่ 31 ธ.ค.66 จะเห็นได้ว่าบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 284.75 ล้านบาท และมีเงินให้กู้ยืมระยะสั้น จำนวน 1,690.02 ล้านบาท และเงินลงทุนในตราสารทุน จำนวน 405.70 ล้านบาท และเงินลงทุนในบริษัทย่อย จำนวน 6,835.85 ล้านบาท และเงินลงทุนในบริษัทร่วม จำนวน 4,920.46 ล้านบาท และเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า จำนวน 1,180,60 ล้านบาท
ดังนั้น จะเห็นว่า SABUY จะมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด, เงินให้กู้ยืมระยะสั้น รวมถึงเงินลงทุนต่าง ๆ เพียงพอต่อการชำระคืนหุ้นกู้ที่คงค้างรวมจำนวนทั้งสิ้น 3,991.50 ล้านบาท อย่างแน่นอน" วิรัช กล่าว
ขณะเดียวกัน SABUY มีกระแสเงินสดรับ (Cash Inflow) เฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 ล้านบาท และทิศทางผลการดำเนินงานของบริษัทมีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง หลังภาครัฐบาลเบิกจ่าย ช่วยกระตุ้นการบริโภคฟื้นตัว ส่งผลให้ทั้งปี 67 บริษัทมีโอกาสพลิกผลการดำเนินงานกลับมารายงานกำไรสุทธิได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ SABUY มีแผนจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ลงทุนแต่ละกิจการ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่มีของแต่ละกิจการที่ลงทุนไปไม่น้อย ซึ่งจะขายเงินลงทุนประมาณ 10 ธุรกิจ โดยเงินลงทุนขณะนี้มากกว่าหนี้สินที่มี จึงไม่มีความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวมากนัก
ส่วน กรณีที่ SABUY ขายหุ้นจำนวน 30 ล้านหุ้น (สัดส่วน 1.7%) ที่ราคา 4.5 บาท/หุ้น มูลค่า 135 ล้านบาท ให้กับ บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) เงินจำนวนดังกล่าวนั้นจะไปเข้าสู่กระเป๋าของ "ชูเกียรติ รุจนพรพจี" ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่ได้เป็นการรับรู้รายได้ของ SABUY แต่อย่างใด
*** สาเหตุหลักอาจมาจาก "เร่งลงทุนเกินตัว"
อย่างไรก็ตาม หากจะมองหาต้นตอที่สำคัญที่ทำให้ SABUY เดินทางมาถึงจุดนี้ได้ คงหนีไม่พ้นการเร่งลงทุนที่มากจนเกินกำลัง ทำให้ค่าใช้จ่ายปี 66 ของ SABUY เพิ่มขึ้นถึง 131.69% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 2,734 ล้านบาท โดยหนักสุด คือ การปรับโครงสร้าง 620 ล้านบาท หลังเข้าไปลงทุนธุรกิจ อาทิ BzB –SBNEXT ,Outsourcing – LOVLS เป็นต้น
นอกจากนี้ SABUY ยังต้องรับรู้ขาดทุนการลงทุน หลังยอมตัดใจขายเงินลงทุนสัดส่วน 12% ในบมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส (TKC) ช่วงไตรมาส 4/66 และ 4% ในไตรมาส 1/67 รวม 640 ล้านบาท แถมยังต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญปี 66 ในกลุ่มธุรกิจ SBNEXT (Alpine – Safe Trade) จำนวน 140 ล้านบาท และเธียรสุรัตน์ ลีสซิ่ง (TSRL) ดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อลูกหนี้รายย่อย และการลงทุนพัฒนาระบบไอที มีมูลค่าลงทุนประมาณ 150 - 200 ล้านบาท
ทั้งนี้ นักลงทุนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ SABUY คงได้แต่เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์ของ SABUY ในครั้งนี้ ส่วนนักลงทุนที่ถือครองหุ้นกู้ SABUY อยู่ ก็คงได้แต่ภาวนาให้สิ่งที่ผู้บริหารพูดเป็นจริงทุกประการ เพื่อที่จะได้รับเงินลงทุนคืนตามสัญญา
แต่ที่แน่ ๆ ล่าสุดวานนี้ "ณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบัญชีและการเงิน (CFO) ได้ลาออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย SABUY ได้แต่งตั้งให้ "กิตติพล ฐานะสิทธิ์" ขึ้นรักษาการ CFO ของบริษัทชั่วคราว
ขณะที่ก่อนหน้านี้ "ชูเกียรติ รุจนพรพจี" ซึ่งเป็นอดีตซีอีโอและผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ชิงลาออกนำไปแล้ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลประกอบการปี 66 ที่ออกมาต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ขณะเดียวกันพบว่ามีการซื้อขายหุ้น SABUY หลายรอบ และเป็นฝั่งขายส่วนใหญ่ โดยตั้งแต่ต้นปี พบว่า วันที่ 24 ม.ค.67 เข้าซื้อ 8 แสนหุ้น ที่ช่วงราคา 4.74 - 4.88 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 3.84 ล้านบาท ก่อนที่จะขายออกไปในวันเดียวกันจากจำนวนหุ้นที่ซื้อมาทั้งหมดที่ราคา 5 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 4 ล้านบาท
ต่อมาก็ขายหุ้นออกมาอีก 3 ครั้ง คือ วันที่ 7 ก.พ.67 จำนวน 2.5 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 5.05 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 12.62 ล้านบาท และขายต่อวันที่ 15 ก.พ.67 จำนวน 1.8 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 4.99 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 8.98 ล้านบาท และมาขายล็อตใหญ่ให้กับ MGI เมื่อ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 30 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 4.5 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 135 ล้านบาท รวมถึงล่าสุดที่มีรายงานการขายหุ้นอีก 40.76 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.43% ทำให้เหลือถือ 18.91% หากเทียบวันปิดสมุดหลังสุดเมื่อ 8 ส.ค.66 ที่ถืออยู่ 24.04%
*** ด่วน !!! "Lightnet Pte. Ltd." ของ"ชัชวาลย์ เจียรวนนท์" เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 40.38%
อัพเดทล่าสุด ! วันที่ 10 เม.ย.67 เวลา 12 : 33 น. SABUY แจ้งตลาดหลักทรัพยฯ ว่า บอร์ดมีมติเพิ่มทุน 2,510 ล้านหุ้น หุ้นละ 2.30 บาท ขาย PP แก่ "Lightnet Pte. Ltd." จำนวน 1,200 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 40.38% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดหลังเพิ่มทุน และ "อานนท์ชัย วีระประวัติ" จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 3.26% ของทุนชำระแล้วหลังเพิ่มทุน
พร้อมกันนี้แจกใบสำคัญแสดงสิทธิ (SABUY-W3) แก่ "Lightnet Pte. Ltd." จำนวน 800 ล้านหุ้น , "Hiwell Global Co., Ltd" จำนวน 350 ล้านหุ้น และ "อานนท์ชัย วีระประวัติ" จำนวน 60 ล้านหุ้น โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1:1 ราคาใช้สิทธิ 3 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้หากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/67 ซึ่งกำหนดวันที่ 24 มิ.ย.67 อนุมัติรายการดังกล่าว และ การเพิ่มทุนลุล่วง SABUY จะได้รับเงินจากการขายหุ้น PP จำนวน 2,990 ล้านบาท ซึ่งภายหลังหากมีการใช้สิทธิ SABUY-W3 จะได้รับเงินอีก 3,630 ล้านบาท รวมเงินทุนใหม่ที่จะได้รับทั้งสิ้น 6,620 ล้านบาท
SABUY ระบุว่า วัตถุประสงค์การเพิ่มทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปชำระคืนหนี้ตามตั๋วแลกเงิน และ/หรือ สัญญากู้ยืมเงิน และ/หรือ หุ้นกู้ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัท ระยะเวลาปี 67-73
ขณะที่หลังการเพิ่มทุนข้างต้น "Lightnet Pte. Ltd." จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SABUY และข้ามสัดส่วนที่ต้องทำคำเสนอซื้อ (Tender offer) ที่ 25% แต่ไม่เกิน 50% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด ตาม มาตรา 247 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิมเติม) และประกาศ ทจ. 12/2554 ซึ่ง "Lightnet Pte. Ltd." มีความประสงค์ขอผ่อนผันการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯ โดยอาศัยมติทีประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัทฯ (Whitewash) ตามประกาศ สก. 29/2561
สำหรับ "Lightnet Pte. Ltd." เป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินที่มีสำนักงนใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจด้านการเงินอยู่หลายประเทศทั่วโลก โดย เน้นการให้บริการเครือข่ายการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ ณ วันที่ 28 ก.พ.67 มีผู้ถือหุ้นที่มีนัยสำคัญ ได้แก่ "ชัชวาลย์ เจียรวนนท์" และ "ตฤบดี อรุณานนท์ชัย" ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 69.54% และ 12.09% ตามลำดับ
ส่วน "Hiwell Global Co., Ltd" เป็นบริษัทลงทุนต่างประเทศจาก Republic of Seychelles โดยมี Lok Teng Teng Dorothy นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ เป็นกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จ (100% UItimate Control) โดย "Hiwell Global Co., Ltd" มิได้มีความสัมพันธ์อื่นใดกับบริษัทฯ หรือเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทฯ
นั่นเท่ากับว่า หากธุรกรรมนี้เสร็จสิ้น 100% ปัญหาหนี้สินต่าง ๆ ที่เล่าไว้ข้างต้น คงจะคลายใจทั้งผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้น SABUY ได้ไม่น้อย ล่าสุด ณ 14 : 57 ราคาหุ้นดีดกลับมาอยู่ที่ 2.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.48 บาท หรือ 21.62% มูลค่าการซื้อขาย 506.86 ล้านบาท โดยขึ้นไปสูงสุดของวันที่ 2.82 บาท หรือเพิ่มขึ้น 27% จากวานนี้