โบรกฯ แห่ปรับกำไร บจ. แบบไม่เป็นเอกฉันท์ มีทั้งลดและเพิ่ม หลังประกาศงบครึ่งปีแรก วางกรอบ 93 - 114.6 บาท/หุ้น แต่ส่วนใหญ่ปรับเป้าดัชนีปี 65 ลง เหตุปัจจัยลบรุมเร้า ต่ำสุด 1,770 จุด สูงสุด 1,776 จุด อย่างไรก็ตามมองหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว รอปัจจัยหนุนใหม่ จับตาฟันด์โฟลว์ไหลเข้าต่อเนื่อง
*** แห่ปรับกำไร บจ.ปี 65
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลังบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประกาศงบการเงินครึ่งแรกปี 65 ครบแล้ว โดยมี 4 แห่งปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น บจ. (EPS) ปีนี้แล้ว ซึ่งมี 1 โบรกเกอร์ที่ปรับขึ้น และ 2 โบรกเกอร์ที่ปรับลง ขณะที่มีอีก 3 บล.อยู่ระหว่างการทบทวน
บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ปรับเพิ่มเป้า EPS หุ้นไทยปีนี้เป็น 114.6 บาท/หุ้น จากเดิม 105.7 บาท/หุ้น เพื่อให้สะท้อนถึงราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น โดยกำไรสุทธิรวมครึ่งปีแรกของหุ้นที่ บล.เคจีไอ ทำการวิเคราะห์ คิดเป็น 52% ของประมาณการกำไรเต็มปี ซึ่ง กลุ่มธนาคาร, โรงพยาบาล และพลังงาน เป็นกลุ่มหลักที่ทำให้กำไรดีเกินคาด เป็นเหตุให้แนวโน้ม EPS ของตลาดโดยรวมฟื้นตัวได้ดี เพราะกำไรของหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีน้ำหนักกับตลาดค่อนข้างมาก (ประมาณการกำไรปี 65 กลุ่มธนาคาร และ พลังงาน (รวมปิโตรเคมีด้วย) คิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของกำไรรวมทั้งตลาด)
ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 2/65 จำนวน 625 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 99% ของมาร์เก็ตแคปรวมทั้งตลาด มีกำไรสุทธิรวม 3.46 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.4% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 26.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นฐานกำไรสุทธิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ตัวเลขดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 65 เบื้องต้นเป็นไปได้ที่จะเห็นกำไรสุทธิรวมสูงกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม "มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) หรือ บล.เคทีบีเอสที (เปลี่ยนชื่อ) ระบุว่า กำไร บจ.ถูกชี้นำด้วยกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวดีมาก จนสามารถชดเชยส่วนที่ติดลบได้ ซึ่งผ่านครึ่งปีแรก กำไรน่าจะอยู่ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท หรือ 50% ของทั้งปี หลัก ๆ มาจากกำไรสต๊อกน้ำมัน (Stock gain) แต่ไตรมาส 3/65 อาจจะลดลงจากกำไรของกลุ่มพลังงานหดตัว เพราะเชื่อว่ากำไรจากสต๊อกน้ำมันจะหาย และกลายเป็นขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (stock loss) แทน เพราะราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลง โดยปรับลดประมาณการ EPS ปีนี้เหลือ 93.2 บาท/หุ้น จากเดิม 93.6 บาท/หุ้น
ด้านนักวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก ปรับลด EPS ปีนี้เหลือ 106 บาท/หุ้น จากเดิม 109 บาท/หุ้น เพื่อให้สอดคล้องกับประมาณการของ Bloomberg Consensus ที่ประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิม เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว
*** ลดเป้าดัชนีฯ ปีนี้เหลือ 1,770 - 1,776 จุด
ขณะที่ 3 โบรกซึ่งปรับประมาณการ EPS หุ้นไทยปีนี้ ได้มีการปรับลดเป้าหมายดัชนีฯ ปี 65 ลงทั้งหมด จากเดิม 1,716 - 1,800 จุด เหลือ 1,700 - 1,776 จุด
"มงคล พ่วงเภตรา" เพิ่มเติมว่า ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเป็นปัจจัยกดดัน SET Index ให้ไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้มากนักในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับภาวะในประเทศยังมีปัจจัยกดดันต่อดัชนีฯ ครึ่งปีหลัง คือ ทิศทางการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน
เช่นเดียวกับ "ณัฏฐ์วริน ไตรภพสกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ หลังประกาศงบฯ ไตรมาส 2 จบลง จะมีหุ้นบางกลุ่มถูก ปรับลดประมาณการกำไรลงมา เช่น กลุ่มอาหาร จากส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงและมีต้นทุนที่สูงกว่าคาด กดดันมาร์จิ้น และมีความเสี่ยงประเทศคู่ค้าอย่างเมียนมา, กลุ่มหลักทรัพย์ จากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ไม่ดี มีวอลุ่มการซื้อขายน้อย และกลุ่มสื่อสาร จากภาวะการแข่งขันที่ยังสูงอยู่ และ 4.หุ้นกลุ่มขนส่ง ที่การแข่งขันสูงขึ้นในด้านของราคา
ขณะเดียวกันมีปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังต้องระวัง คือ ทิศทางดอกเบี้ยที่กระทบต้นทุน และภาวะเงินเฟ้อ รวมไปถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ, ไต้หวัน และจีน อาจเป็นประเด็นกดดันระยะสั้นได้ ซึ่งต้องจับตาความเสี่ยงนี้ต่อไป
โบรกเดินหน้าปรับเป้า กำไรบจ.-ดัชนี หลังประกาศงบ H1/65
|
โบรกเกอร์
|
% EPS ปี 65 เดิม
|
% EPS ปี 65 ใหม่
|
ดัชนีปี 65 (จุด) เดิม
|
ดัชนีปี 65 (จุด) ใหม่
|
เคจีไอ
|
105.7
|
114.6
|
1,800
|
1,776
|
เคทีบีฯ
|
93.6
|
93.2
|
1,716
|
1,708
|
โกลเบล็ก
|
109
|
106
|
1,750
|
1,700
|
เอเชีย พลัส
|
88.9
|
อยู่ระหว่างทบทวน
|
1,570
|
อยู่ระหว่างทบทวน
|
หยวนต้า
|
92
|
อยู่ระหว่างทบทวน
|
1,650
|
อยู่ระหว่างทบทวน
|
ทรีนีตี้
|
106.5
|
อยู่ระหว่างทบทวน
|
1,690
|
อยู่ระหว่างทบทวน
|
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยรวบรวมข้อมูล ณ 17 ส.ค.65
|
*** แต่เชื่อ ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
"สุกิจ อุดมศิริกุล" กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บล.ไทยพาณิชย์ มองว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว คาด SET Index มีโอกาสฟื้นตัวไปที่ 1,650 -1,750 จุดในช่วงปลายปีนี้ โดยระดับดัชนีที่เหมาะสมที่ 1,650 จุด ให้กรอบด้านบนที่ 1,750 จุด กรอบล่าง 1,500 จุด ภายใต้วิกฤตหลายวิกฤต ประเมินว่าดัชนีจะไม่ลดแรงเหมือนช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากผลกระทบต่อกำไรไม่แรงเท่า
และช่วงที่เหลือของปีนี้มีสัญญาณบวกมากขึ้น อานิสงส์จากการเปิดเมือง โดยแนะนำถือเงินสดไว้บางส่วนเพื่อสภาพคล่องและสร้างโอกาสเลือกสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี ลงทุนในตราสารที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ เลือกลงทุนในจังหวะที่ Valuation ไม่แพง และเป็นธุรกิจที่มีอำนาจต่อรองด้านราคา รวมถึงมีฐานะการเงินแข็งแรง
*** จับตาฟันด์โฟลวไหลเข้ายาว ๆ
ขณะที่ปีนี้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.46 แสนล้านบาท เพราะเมื่อปัจจัยลบต่าง ๆ เริ่มคลี่คลาย เม็ดเงินจะไหลสู่สินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ มองว่า แนวโน้มต่างชาติยังคงเป็นไหลเข้าสุทธิอย่างต่อเนื่อง คาดเฉลี่ยถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากสถานการณ์ต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ทั้งเรื่องเงินเฟ้อที่เริ่มมีทิศทางที่ลดลง ปัจจัยต่างๆ ที่เคยเป็นข้อกังวลของนักลงทุนเริ่มลดลง และนักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น หลังจากปัจจัยต่างๆได้สะท้อนไปที่ราคาหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะที่ไทย ยังมีจุดขายโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวที่ทำให้ยังมีแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้า และล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าในการประชุมที่เหลือของปีนี้อีก 2 ครั้ง คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ปัจจัยดังกล่าวหากมองไปข้างหน้าจากนี้จนถึงสิ้นปีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะ Outperform กว่าหลายๆตลาดจากการที่เศรษฐกิจไทยมีภาวะฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น และค่าเงินบาทก็มีผลในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ
เช่นเดียวกับ "สุกิจ อุดมศิริกุล" มองว่า นักลงทุนต่างชาติจะเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะตลาดหุ้นไทยถือว่าแข็งแกร่ง แม้แนวโน้มปี 66 เงินเฟ้อยังสูงกว่าปกติ แต่คงไม่เท่า 6-7% ในปีนี้ จึงคาดเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่มากขึ้น