บิ๊ก โบรกเกอร์-บลจ.-เซียนหุ้น ค้าน "ยกเลิก" Program Trading ชี้สวนทางเทคโนโลยีไม่ดีแน่ แต่แนะตรวจสอบเชิงลึกและจับแยกประเภท อันไหนมีความเหลื่อมล้ำ-สร้างผลกระทบภาพรวมตลาดฯ ต้องออกมาตรการควบคุม เพื่อสร้างความเท่าเทียม
*** รัฐฯ ส่งสัญญาณพิจารณายกเลิก "โปรแกรมเทรด"
เมื่อ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Facebook ว่า "เลิก Program Trading… จะดี"
ต่อเนื่องถึง "กฤษฎา จีนะวิจารณะ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเสริมว่า ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อไปพิจารณาต่อไปว่า การใช้โปรแกรมเทรดมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ถ้าหากตรวจสอบแล้วมีผลกระทบและไม่ควรมีการใช้โปรแกรมเทรดก็ต้องมีมาตรการหรือประกาศยกเลิกต่อไป
ซึ่งทาง ตลท. โดย "ดร.ภากร ปีตธวัชชัย" กรรมการและผู้จัดการ และ "แมนพงศ์ เสนาณรงค์" รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ทั้งหมด โดยกรณีอยากให้มีการยกเลิกโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติ ต้องดูเหตุผลความต้องการที่อยากให้ยกเลิก เพราะทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
"ถ้ามองว่ามีข้อเสีย ก็มาดูว่ามีข้อเสียอะไร หากจะให้ยกเลิก Program Trading ก็ต้องถามกลับไปว่า นักลงทุนต่างประเทศจะกระทบหรือไม่ จะลงทุนได้ไหม เพราะตอนนี้เขาไม่ได้ใช้คนในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์กันแล้ว Program Trading เป็นเครื่องมือในการที่นักลงทุนต่างประเทศกว่า 90% ใช้ส่งคำสั่งซื้อขายแทนคน ทุกอย่างถูกเรียกว่าโปรแกรม ขณะเดียวกันทั่วโลกใช้ Program Trading ในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เป็นรูปแบบสากล ไม่ใช้คนในการส่งคำสั่งซื้อขายกันแล้ว เพราะเขามีการลงทุนในหลายประเทศ แต่ไอเดียในการลงทุน มองว่ายังมาจากผู้จัดการกองทุน หรือนักวิเคราะห์อยู่" แมนพงศ์ เสนาณรงค์ กล่าว
*** "โปรแกรมเทรด" ยกเลิกไม่ได้ !!! แต่ควบคุมความเหลื่อมล้ำได้
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และ นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ระบุว่า การทบทวนเพื่อปรับปรุงกฏเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านโปรแกรมอัตโนมัติ (Program trading) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หลังจากมีบทบาทต่อตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า 40% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
"ยกเลิกโปรแกรมเทรดทั้งหมดคงทำไม่ได้ แต่ต้องพิจารณาแยกประเภทของการใช้โปรแกรมแต่ละแบบก่อน หากพบลักษณะใดที่ผลกระทบต่อตลาด ก็ควรควบคุมหรือยกเลิกไป !!! แต่เท่าที่พบในตลาดหุ้นไทยทุกวันนี้กว่า 80-90% เป็นการใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ซื้อขายหุ้นมากกว่า ทั้งแบบ Execution เพื่อให้ราคาที่ซื้อขายได้จริงใกล้เคียงหรือไม่เกินราคาเฉลี่ยของวันนั้น และแบบ Market Making ของ Market Maker ที่ช่วยให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อตลาด ขณะที่อีกราว 10% ของโปรแกรมเทรด ต้องไปแยกอีกทีว่าเป็นประเภทไหน หากใช้ทำ Arbitrage ก็ถือเป็นกลไกการบริหารความเสี่ยงแบบปกติ แต่หากใช้เพื่อมาสร้างวอลุ่มเทียม เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป แบบนี้ก็ต้องเอาออกไป ซึ่งต้องไปตรวจสอบกันโดยละเอียดอีกทีว่ามีมากน้อยแค่ไหน"
ขณะที่ "พิเชษฐ สิทธิอำนวย" กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง และนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เปิดเผยว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างหารือและตรวจสอบรายละเอียดการใช้โปรแกรมเทรด เพื่อทบทวนกฏเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งาน โดยหากพบการใช้งานที่สร้างผลกระทบต่อตลาดก็ต้องควบคุม
อย่างไรก็ตามการ "ยกเลิก" โปรแกรมเทรดเลย คงทำได้ยาก เพราะไม่สามารถปฎิเสธการเติบโตของเทคโนโลยีได้ ซึ่งมีประโยชน์และช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่ต้องแยกรายการที่มีปัญหาออกมาพิจารณาเป็นกรณีไป โดยต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนว่าแบบไหนที่สร้างผลกระทบ และมีนัยมากแค่ไหน
ด้าน "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เผยว่า การ "ยกเลิก" โปรแกรมเทรดอัตโนมัติทั้งหมด เป็นไปไม่ได้ เพราะมีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย และฟังชั่นของระบบการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นในปัจจุบันก็มีระบบอัตโนมัติอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนทั่วไปสามารถกำหนดเงื่อนไขที่ต้องการได้ เพียงแต่โปรแกรมเทรดอัตโนมัติของนักลงทุนต่างชาติ อาจจะถูกพัฒนาให้ล้ำสมัยกว่ามาก
ดังนั้นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการ คือ แยกการซื้อขายของโปรแกรมเทรด แต่ละประเภท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แบบไหนที่เป็นปัญหา มีลักษณะที่ค่อนข้างเอาเปรียบ และมีผลกระทบต่อตลาดก็ควบคุมหรือยกเลิกไปได้ ส่วนประเภทที่ใช้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกประหยัดเวลาและต้นทุน รวมถึงช่วยเพิ่มให้ตลาดรวมมีสภาพคล่อง ก็ควรให้ใช้ต่อไป ซึ่งต้องแยกแยะเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่ควรเหมารวมว่าต้องยกเลิกทั้งหมด
"แม้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ จะฉลาดและเร็วกว่ามนุษย์ แต่เราสามารถจำกัดความสามารถของมันได้ ดังนั้นอันไหนที่พิสูจน์แล้วว่ามีปัญหาก็ต้องเข้าไปควบคุม เชื่อว่าอีกไม่นาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องมีมาตรการอะไรสักอย่างออกมาแน่ โดยเฉพาะ Short Sell และ โปรแกรมเทรด จะไปยกเลิกโปรแกรมเทรดทั้งหมด เป็นไปไม่ได้หรอก แต่ตั้งเงื่อนไขใหม่ได้ เช่น Short Sell ที่มีปัญหาก็ขยับ Price rule อย่าง Uptick Rule ก็น่าช่วยได้อย่างมีนัยสำคัญแล้ว ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอาจจะมีการปรับตรงนี้ รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ของโปรแกรมเทรดที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายรวมให้ผิดปกติ ก็แก้ไขเป็นเรื่อง ๆ ไป"
ข้ามฟากไปที่ "เสี่ยป๋อง" วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่สายเทคนิคอล มองไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ควร "ยกเลิก" การใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติในตลาดหุ้นไทย เพียงแต่ควรแยกประเภทของการใช้โปรแกรมให้ชัดเจน หากลักษณะไหนส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดและสร้างความเหลื่อมล้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุม ออกเป็นมาตรการมาดูแล
"ระบบ AI ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด ส่วนดีก็ช่วยทำให้สภาพคล่องตลาด เราปฏิเสธการมีอยู่ของมันไม่ได้ เพราะเทรนด์ของโลกในอนาคตกำลังไปทางนั้นหมด ที่ควรทำคือปรับตัว เพียงแต่ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยปรานีนักลงทุนไทยในช่วงที่กำลังปรับตัวกัน เพิ่มเข้มงวดในการตรวจสอบและเร่งอุดช่องโหว่ใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในตลาดหุ้นไทย"
*** "ความเชื่อมั่นธรรมาภิบาล" ตัวการฉุดหุ้นไทยมากกว่า "โปรแกรมเทรด"
"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" เพิ่มเติมต่อไปว่า ปัจจุบันไม่สามารถสรุปได้ 100% ว่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทยเกิดจาก โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ และ Short Sell รวมถึง Naked Short ที่ยังไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ "ตลาดหุ้นไทย" กำลังประสบปัญหาความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะด้าน "ธรรมาภิบาล"
"ผมมีโอกาสได้คุยกับนักลงทุนสถาบันหลายแห่ง ซึ่งแทบทุกรายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตลาดหุ้นไทยความน่าสนใจต่ำมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น เพราะนอกจากปัญหาเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ไม่ค่อยดีแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญคือ ธรรมาภิบาล ที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยถือว่าอัปลักษณ์ไปเลย เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) สำหรับตลาดหุ้นก็มีค่อนข้างจำกัด เพราะเงินไหลออกไปอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำในยุคดอกเบี้ยสูง จึงไหลออกไปหาตลาดหุ้นอื่นดีกว่า
ส่วนพวก Short Sell และ โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ เป็นเพียงแค่กลไกหนึ่งที่มาทำให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นไม่ได้ เพราะเมื่อมันไม่ขึ้นก็หากินกับขาลงไปเลย ทั้ง Short Sell และ โปรแกรมเทรดอัตโนมัติ ก็ดำเนินกลยุทธ์ให้ล้อไปกับขาลง กรรมทั้งหมดเลยมาตกกับรายย่อย เพราะเครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้ทันสมัยเท่ากับต่างชาติ นำไปสู่การสิ้นศรัทธาของรายย่อย ดังนั้นสิ่งที่ควรแก้ในตอนนี้คือความเชื่อมั่้น โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล"
-----------------
ประเด็นร้อน, โปรแกรมเทรด, Program Trading, Short Sell, Naked Short,