"วันนี้" Bitcoin ยังมีลักษณะเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนและเก็งกำไรสูง
ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มูลค่าของ Bitcoin ได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,300,000 บาท มาอยู่ที่เกือบ 3,500,000 บาท ในช่วงปลายปี ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
หากเราสมมติว่า Bitcoin กลายเป็นเงินกระแสหลักในระบบเศรษฐกิจ สิ่งนี้อาจสะท้อนลักษณะของ "เงินฝืด" หรือการที่มูลค่าเงินเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าและบริการ
ตัวอย่างเช่น บ้านที่เคยมีราคา 1 BTC ในช่วงต้นปี อาจลดลงเหลือเพียง 0.37 BTC ในเวลาไม่ถึงปี ซึ่งสะท้อนถึงมูลค่าของ Bitcoin ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน
แนวโน้มนี้สร้างคำถามสำคัญสำหรับอนาคตของ Bitcoin 2 ข้อ คือหากมันก้าวขึ้นมาเป็นเงินกระแสหลัก ที่ยังคงมีความผันผวนและมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การตัดสินใจใช้ Bitcoin ในการซื้อสินค้าหรือการลงทุนจะกลายเป็นเรื่องซับซ้อน
ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการซื้อบ้าน คุณจะรีบซื้อทันที หรือเลือกถือครอง Bitcoin ไว้ก่อน เพราะมูลค่าของมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด การตัดสินใจเช่นนี้อาจทำให้เกิด "ภาวะการสะสมเงิน" (Hoarding Effect) ซึ่งผู้คนจะเลือกชะลอการใช้จ่ายและการลงทุน ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวลคือ หากมีการกู้ยืม Bitcoin เพื่อเริ่มต้นธุรกิจ เช่น ซื้ออุปกรณ์หรือที่ดิน ต้นทุนของเงินกู้ในรูป Bitcoin จะเพิ่มขึ้นตามมูลค่าของมัน ในขณะที่รายได้จากธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการเมื่อเทียบกับ Bitcoin จะลดลง
เช่น หากกู้ยืม 1 BTC ในวันนี้เพื่อเริ่มต้นธุรกิจและภายใน 1 ปี มูลค่าของ Bitcoin เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า รายได้ที่ได้รับอาจไม่เพียงพอต่อการคืนเงินกู้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางการเงิน ของผู้ประกอบการ และสร้างแรงกดดันต่อระบบเศรษฐกิจ
การที่เงินมัน deflate และมีมูลค่าเพิ่มทุกวัน อาจจะส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจโดยรวมหยุดชะงัก เพราะทุกคนจะไม่อยากทำธุรกิจ ไม่อยากซื้อของที่ไม่จำเป็น
เช่น การเลื่อนการใช้จ่ายออกไปเนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจะลดลงในอนาคต คนที่ซื้อบ้านจะอยากเช่ามากกว่า เพราะยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งจ่ายน้อยลง เพราะบ้านที่มูลค่า 10 BTC ในวันนี้ ค่าเช่า 0.01 BTC ในอนาคต อาจจะเช่าเพียงแค่ 0.001 BTC และมีมูลค่าเหลือเพียง 1 BTC จะส่งผลการให้จ้างงานโดยรวมหายไป แต่ทุกวันนี้เรายังไม่รู้สึกถึงสิ่งนี้ เพราะเราใช้เงินบาทเป็นเงินหลัก
ประเด็นที่ผมอยากชี้ให้เห็นคือ “วันนี้” Bitcoin ยังมีลักษณะเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน และเก็งกำไรสูง ยังขาดคุณสมบัติของการเป็นเงิน แต่ในอนาคต เมื่อมันสามารถเป็นเงินได้ เราอาจจะเห็นมูลค่าของ Bitcoin เพิ่มทีละน้อย และมีเสถียรภาพมากขึ้น ความผันผวนของราคายังเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้มันไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเงินตราหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคต Bitcoin สามารถลดความผันผวนและสร้างความมั่นคงในระบบได้ เราอาจเห็นมันพัฒนาไปสู่การเป็นเงินกระแสหลักที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการลงทุนและการแลกเปลี่ยนได้
การรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจ เช่น การมีเงินเฟ้ออ่อน ๆ ในระบบ จึงเป็นแนวทางที่โลกในปัจจุบันใช้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ซึ่งต่างจากระบบเงินฝืดที่อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว การพัฒนา Bitcoin ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเป็นเงินกระแสหลัก จึงเป็นความท้าทายที่ต้องใช้เวลาและการปรับตัวในหลายมิติ.
บทความโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) PhD in Financial Mathematics
ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์