รู้ทัน “ภัยไซเบอร์” ภัยร้ายสำหรับธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกด้านของการดำเนินธุรกิจ ข้อมูลดิจิทัลและ “ระบบไอที” ถือเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ที่หล่อเลี้ยงองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นระบบทางด้านการเงิน ฐานข้อมูลลูกค้า ช่องทางการสื่อสารต่างๆ
แต่ในขณะเดียวกันภัยไซเบอร์ (Cyber Threats) นั้นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งภัยคุกคามนั้นสามารถสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับทั้งองค์กรและบุคคลทั่วไปได้ทั้งความสูญเสียในรูปของตัวเงินหรือในรูปแบบที่ไม่อาจสามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้
การโจมตีทางไซเบอร์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกมากขึ้นในทุกปี ซึ่งจะเห็นจากข่าวที่หลายองค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศ ถูกโจมตีโดยมีการขโมยเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัล รวมไปถึงการถูก Hack ข้อมูลที่มีค่าของเรานำไปขายในตลาดมืดอีกด้วย
ซึ่งองค์กรหรือบุคคลใดก็ตามที่ไม่ได้เตรียมพร้อม ในการรับมือภัยไซเบอร์นั้นอาจตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีได้อย่างง่ายดาย และนำไปสู่การสูญเสียต่อธุรกิจ ข้อมูลรั่วไหล เกิดความเสียหายต่อระบบ หรือแม้กระทั่งการหยุดชะงักของการดำเนินธุรกิจในระดับที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลได้
สถานการณ์ภัยไซเบอร์ในปี 2024
ในปี 2024 มีเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์หลายครั้งที่สร้างความเสียหายทางการเงินอย่างรุนแรงในหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น Caesar's Entertainment ถูกโจมตีด้วย ransomware และพวกเขาจำเป็นต้องจ่ายเงินถึง 15 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลที่ถูกขโมยเผยแพร่สู่สาธารณะ การโจมตีนี้เชื่อมโยงกับกลุ่ม Scattered Spider ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่อยู่เบื้องหลังการโจมตี MGM Resorts ซึ่งทำให้บริการต่าง ๆ ของโรงแรมหยุดชะงัก เช่น การจองห้องพัก ระบบกุญแจดิจิทัล และเครื่องสล็อตที่คาสิโน โดยแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมที่พึ่งพาระบบดิจิทัลอย่างมาก
อีกกรณีหนึ่งคือการโจมตีระบบ MOVEit ซึ่งเกิดจากการโจมตีช่องโหว่ zero-day ในซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการถ่ายโอนไฟล์ ความเสียหายจากเหตุการณ์นี้มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากกลุ่ม ransomware CL0P และกลุ่มอื่น ๆ ได้ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นี้ในการขโมยข้อมูลจากองค์กรทั่วโลก ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นหนึ่งในการละเมิดข้อมูลที่รุนแรงที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เมืองดัลลัสยังถูกโจมตีด้วย ransomware จากกลุ่ม Royal ransomware ที่ล้วงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนกว่า 26,000 คน รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งความเสียหายจากเหตุการณ์นี้สูงถึงหลายล้านดอลลาร์ แสดงถึงผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ
การโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงขนาดของอาชญากรรมไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ransomware ที่คาดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายทางการเงินแก่เหยื่อสูงถึง 42 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2024 และตัวเลขนี้ยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
รูปแบบการโจมตีทางไซเบอร์
หนึ่งในรูปแบบที่พบได้บ่อยคือ “Phishing” (ฟิชชิง) ซึ่งเป็นการหลอกลวงผ่านอีเมลหรือข้อความปลอมที่ถูกออกแบบมาอย่างแนบเนียนเพื่อหลอกให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน ข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลบัญชีอื่น ๆ แฮ็กเกอร์จะส่งอีเมลที่ดูเหมือนมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคาร หรือองค์กรที่ผู้ใช้มีความสัมพันธ์ ซึ่งผู้ใช้ที่ไม่ได้ระมัดระวังอาจถูกหลอกให้คลิกลิงก์หรือตอบกลับด้วยข้อมูลที่สำคัญของตน เช่น รหัสผ่าน เลขที่บัญชี หรือเลขบัตรเครดิต
“ไวรัสคอมพิวเตอร์” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้โจมตีใช้ในการแทรกซึมเข้าสู่ระบบหรือเครื่องของผู้ใช้งานโดยแฝงตัวอยู่ในโปรแกรมหรือไฟล์ที่ดูปลอดภัย เช่น ไฟล์แนบในอีเมลหรือโปรแกรมที่ดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เมื่อไวรัสคอมพิวเตอร์ถูกติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อแล้ว ไวรัสคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่เปิดเป็นช่องทางให้แฮ็กเกอร์เข้าถึงระบบหรือเครื่องของเหยื่อได้ ซึ่งแฮ็กเกอร์สามารถควบคุมระบบ ขโมยข้อมูลสำคัญ หรือแม้แต่ติดตั้งมัลแวร์อื่น ๆ ลงในเครื่องของเหยื่อได้อย่างง่ายดาย
ไวรัสอีกประเภทหนึ่งที่ทำการเข้ารหัสข้อมูลคือ “Ransomware” (แรนซัมแวร์) ซึ่งเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ อีกหนึ่งรูปแบบที่เหล่าแฮ็กเกอร์ใช้ในการจู่โจมระบบสารสนเทศขององค์กรและเครื่องผู้ใช้งานทั่วไป โดยทำให้ข้อมูลสำคัญต่างๆ บนเครื่องของเราถูกล็อคเอาไว้และไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งมักจะส่งผล กระทบกับการทำธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงข้อมูลอันมีค่า เช่น File ของโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ข้อมูลทางการเงินของบริษัท รวมไปถึง File ที่มีการเก็บกุญแจในการเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลอีกด้วย
โดยการเรียกค่าไถ่แรนซัมแวร์นั้น จะเป็นการให้เจ้าของข้อมูลจ่ายเงินในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อแลกกับการให้กุญแจถอดรหัสข้อมูลกลับมา ซึ่งในแต่ละครั้งนี้อาจมีการเรียกค่าไถ่มูลค่าหลายแสนถึงหลักหลายล้านบาท
การป้องกันและเตรียมความพร้อม
1.ตรวจสอบผู้ส่ง
เมื่อได้รับอีเมลที่มีลิงก์ให้คลิก ควรเริ่มต้นด้วยการ “ตรวจสอบผู้ส่ง” ว่าเป็นอีเมลปลอมหรือไม่ โดยเฉพาะอีเมลที่สะกดใกล้เคียงกับชื่อจริงหรือใช้อีเมลโดเมนที่ไม่เป็นทางการ อีเมลจากองค์กรหรือธนาคารมักจะแจ้งชื่อผู้รับอย่างชัดเจน ดังนั้นหากไม่มีชื่อหรือไม่ตรง ควรระวังว่าอาจเป็นอีเมลจากมิจฉาชีพ สำหรับลิงก์ในอีเมลควรตรวจสอบ URL ก่อนคลิก โดยการวางเคอร์เซอร์เพื่อดูที่อยู่จริงหรือคัดลอกไปวางที่อื่นเพื่อประเมินความถูกต้อง นอกจากนี้ อีเมลปลอมอาจมีไฟล์แนบที่หลอกลวงให้ดาวน์โหลด เช่น ใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษี หากไม่แน่ใจว่าได้สั่งซื้อสินค้าจริงหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการเปิดไฟล์ดังกล่าว องค์กรต่าง ๆ มักไม่มีนโยบายในการขอข้อมูลส่วนตัวผ่านทางอีเมล ดังนั้น หากมีอีเมลลักษณะนี้ ควรสงสัยว่าเป็นฟิชชิงและหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่สำคัญ
2.ติดตั้งโปรแกรม Antivirus
การรักษาความปลอดภัยของคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มือถือในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยการ “ติดตั้งโปรแกรม Antivirus” เป็นขั้นตอนแรกที่ทุกคนควรทำ เพื่อสร้างเกราะป้องกันเบื้องต้นจากภัยคุกคามต่าง ๆ ที่อาจเข้ามาทางอินเทอร์เน็ตและอีเมล์ โดยโปรแกรม Antivirus จะช่วยสแกนและตรวจสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้ใช้สามารถตรวจจับและกำจัดไวรัส รวมถึงมัลแวร์ที่อาจแฝงตัวอยู่ในเครื่องได้อย่างทันท่วงที
3.หลีกเลี่ยงการติดตั้งซอฟต์แวร์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือควร “หลีกเลี่ยงการติดตั้งโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ” เช่น เว็บไซต์ที่ไม่ได้รับการรับรองหรือแอปพลิเคชันที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้พัฒนาที่น่าเชื่อถือ เพราะการดาวน์โหลดจากแหล่งที่ไม่รู้จักอาจนำไปสู่อันตรายจากการติดไวรัสหรือมัลแวร์ที่ซ่อนอยู่ภายในซอฟต์แวร์ที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยซอฟต์แวร์เหล่านั้นมักจะมีฟังก์ชันที่ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ถูกโจรกรรมได้ง่ายขึ้น
4.การไม่เปิดไฟล์ที่ไม่รู้จักแหล่งที่มา
“การไม่เปิดไฟล์ที่ไม่รู้จักแหล่งที่มา” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยป้องกันภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์แนบในอีเมล์หรือไฟล์ที่ได้รับจากผู้ใช้รายอื่น หากไม่มั่นใจในความปลอดภัยของไฟล์เหล่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการเปิดหรือดาวน์โหลด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคลิกลิงก์ที่แนบมากับข้อความหรืออีเมล์จากแหล่งที่ไม่รู้จัก เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง เพราะลิงก์เหล่านี้อาจนำไปสู่เว็บไซต์ที่เป็นอันตรายซึ่งอาจติดตั้งไวรัสลงในเครื่องของเราได้โดยไม่รู้ตัว
5.สแกนไฟล์ฮาร์ดดิสก์ภายนอกก่อนนำมาใช้งาน
นอกจากนี้ การใช้งาน Removable Device เช่น USB Flash Drive หรือ External Harddisk ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะอุปกรณ์เหล่านี้เป็นแหล่งที่ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ควรทำการ “สแกนไฟล์ในอุปกรณ์เหล่านี้ทุกครั้งก่อนที่จะนำมาใช้งาน” เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดไวรัส
6.ตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
สุดท้ายนี้ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้งานคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มือถืออย่างปลอดภัยในโลกดิจิทัลนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุป
ในโลกยุคดิจิทัลนั้นภัยไซเบอร์คือความเสี่ยงที่แทบทุกคนต้องเผชิญ แต่ด้วยการเตรียมความพร้อมและการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อและปกป้องข้อมูลหรือทรัพย์สินทางดิจิทัลที่มีค่าจากการโจมตีทางไซเบอร์ได้ การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์นั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โดยที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อและเกิคความสุญเสียทางดิจิทัล
บทความโดย : บริษัท ซีเคียว ดี เซ็นเตอร์ จำกัด (Secure D) ผู้ให้บริการ Cybersecurity Professional Service แบบครบวงจร โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 10 ปีและได้รับมาตรฐานสากลด้านระบบการจัดการ ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ISO/IEC : 27001
อ้างอิง:
https://www.upguard.com/blog/cost-of-a-data-breach-2024
https://www.techradar.com/pro/top-data-breaches-and-cyber-attacks-in-2024
https://cybersecurityventures.com/cybercrime-to-cost-the-world-9-trillion-annually-in-2024/
https://www.secure-d.tech