RWA สะพานเชื่อมโลกจริงสู่เทคโนโลยีบล็อกเชน!
ในยุคที่เทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว Real World Assets (RWA) Tokenization เป็นอีกแนวคิดใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นการผสมผสานระหว่างโลกของสินทรัพย์ทางกายภาพและโลกดิจิทัลด้วยการแบ่งสิทธิ์การถือครองเป็นหน่วยย่อย!
ความสนใจที่เพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากตลาดสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ที่ถูกนำมาแปลงเป็นโทเคนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร, เครดิตภาคเอกชน,อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ อ้างอิงจากรายงานของ Galaxy Research ผู้นำด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชนเผยว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2024 ตลาดนี้ได้ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลด้วยมูลค่า 1.61 พันล้านดอลลาร์!
RWA Tokenization คืออะไร?
RWA Tokenization หมายถึงสินทรัพย์ที่ถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชน สินทรัพย์เหล่านี้อาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ งานศิลปะ หรือแม้แต่ตราสารทางการเงินแบบดั้งเดิม การทำเช่นนี้ช่วยให้สินทรัพย์ที่มักจะมีสภาพคล่องต่ำสามารถซื้อขายได้ง่ายขึ้นในตลาดดิจิทัล
ประโยชน์จากการนำ RWA มาใช้
-มีสภาพคล่อง
“สภาพคล่อง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ที่เคยซื้อขายยากหรือมีทุนทรัพย์ในการซื้อขายสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้สินทรัพย์เหล่านี้ถูกแบ่งหน่วยย่อย เพิ่มโอกาสการเข้าถึงและการซื้อขายได้มากขึ้น
-ซื้อขายได้ 24/7
เทคโนโลยีบล็อกเชนยังช่วยให้การซื้อขายสินทรัพย์สามารถทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาในการซื้อขาย เหมือนกับตลาดทุนทั่วไปที่มีเวลาการเปิด-ปิด การซื้อขายที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ทำให้นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้ตามความสะดวกตลอด 24/7
-นักลงทุนรายย่อย เข้าถึงสินทรัพย์มูลค่าสูงได้
นักลงทุนรายย่อยสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์มูลค่าสูงได้ โดยการซื้อเพียงบางส่วน ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนมากมายเพื่อซื้อสินทรัพย์ทั้งชิ้น การทำเช่นนี้เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่มีทุนจำกัดสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงได้
-ลดค่าใช้จ่าย
RWA สามารถแก้ปัญหาของการซื้อขาย Asset ในชีวิตจริงตือ การใช้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เนื่องจากบล็อกเชนเป็นระบบที่ไม่มีตัวกลาง ไม่จำเป็นต้องมีค่าธรรมเนียมที่สูงเท่ากับการทำธุรกรรมผ่านธนาคารหรือตัวกลางการเงินอื่นๆ ทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น
-โปร่งใส ตรวจสอบได้
ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์ใด และการทำธุรกรรมแต่ละรายการเป็นอย่างไร ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้เช่นนี้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและปลอดภัยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้งาน
ตัวอย่างของสินทรัพย์ที่นำมาแปลงเป็นโทเคน
1.อสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงและต้องใช้ทุนทรัพย์มากในการลงทุน การใช้โทเคนที่แทนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทรัพย์สินทั้งหมด ตัวอย่างเช่น นักลงทุนสามารถซื้อโทเคนที่แทนส่วนแบ่งของคอนโดมิเนียมหรืออาคารสำนักงาน ซึ่งทำให้สามารถเข้าร่วมลงทุนในโครงการใหญ่ได้แม้มีทุนจำกัด ตัวอย่างเช่น
- Lofty.ai ซึ่งใช้บล็อกเชนของ Algorand เพื่อให้นักลงทุนสามารถซื้อส่วนแบ่งการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้เริ่มต้นเพียง 50 ดอลลาร์ นักลงทุนของ Lofty สามารถรับรายได้แบบ Passive จากค่าเช่าของทรัพย์สิน รวมถึงได้รับประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สิน
- RealX Tokens ซึ่งเป็นเหรียญที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Origin บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งได้มีการนำสิทธิ์การถือครองคอนโดมา Tokenize ด้วยการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) โดยมีบริษัท TokenX ทำหน้าที่เป็น ICO Portal
2.สินทรัพย์ที่นิยมเก็บรักษามูลค่า
ทองคำ โลหะมีค่าอื่นๆ ก็เป็นอีกประเภทสินทรัพย์ที่นิยมในการเก็บรักษามูลค่า โทเคนที่อิงกับทองคำหรือโลหะมีค่าทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายและถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ได้อย่างสะดวกสบาย โทเคนเหล่านี้มีมูลค่าที่อิงกับราคาทองคำหรือโลหะมีค่าที่แท้จริงในตลาด ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ในความมั่นคงของมูลค่า ตัวอย่างเช่น
- Paxos Gold (PAXG) ซึ่งได้ออกโทเคนที่มีทองคำรองรับ (Backed) เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายและการโอนกรรมสิทธิ์ทองคำได้ง่ายขึ้น PAXG เป็นโทเคนดิจิทัลที่แต่ละโทเคนแทนทองคำบริสุทธิ์หนึ่งทรอยออนซ์ของ London Good Delivery ซึ่งถูกเก็บรักษาในห้องนิรภัยที่ได้รับการอนุมัติจาก Paxos
- ตลาดหุ้นและพันธบัตร โทเคนหุ้นหรือพันธบัตรทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหลักทรัพย์เหล่านี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และลดความซับซ้อนในการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบและการทำธุรกรรม ทำให้นักลงทุนสามารถเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการลงทุน
3.งานศิลปะหรือของสะสม
งานเหล่านี้มีมูลค่าสูง ซึ่งการใช้โทเคนแทนส่วนแบ่งของงานศิลปะหรือของสะสมจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งชิ้น ตัวอย่างเช่น การซื้อโทเคนที่แทนส่วนแบ่งของภาพวาดชื่อดังหรือของสะสมหายาก ทำให้นักลงทุนสามารถร่วมเป็นเจ้าของและรับผลประโยชน์จากการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้ได้
โอกาสและความท้าทายของ RWA Tokenization
หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญคือการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการทำ Tokenization ทั้งกฎหมายในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน และการป้องกันการฟอกเงิน เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
การรักษาความปลอดภัยและการเก็บรักษาสินทรัพย์จริง ต้องมีระบบที่น่าเชื่อถือในการจัดเก็บรักษาเพื่อป้องกันการโจรกรรม การสูญหาย หรือการเสื่อมสภาพ ดังนั้น ต้องเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการรับรอง
โทเคนดิจิทัลต้องสะท้อนมูลค่าของสินทรัพย์จริงอย่างถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ การใช้บล็อกเชนและเทคโนโลยีสมาร์ตคอนแทรกต์ช่วยในการสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในกระบวนการนี้ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบและการรับรองจากผู้เชี่ยวชาญอีกที
8 ข้อควรระวังเกี่ยวกับ RWA Tokenization
1.ความเสี่ยงด้านกฎหมายและการกำกับดูแล
กฎระเบียบเกี่ยวกับ RWA ยังไม่ชัดเจนในหลายประเทศ อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน นักลงทุนควรศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศของตนและในประเทศที่สินทรัพย์ RWA นั้นตั้งอยู่อย่างรอบคอบ
2.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
แม้ว่า RWA จะเพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์ แต่ในบางกรณีอาจยังมีตลาดรองที่จำกัด ในกรณีที่ตลาดรองมีสภาพคล่องต่ำ การขายโทเคน RWA ในปริมาณมากอาจทำได้ยากหรือส่งผลกระทบต่อราคา
3.ความเสี่ยงจากการประเมินมูลค่า
การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อ้างอิงอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะกับสินทรัพย์ที่ซับซ้อนหรือมีความเฉพาะตัวสูง ราคาของโทเคน RWA อาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อ้างอิงเสมอไป
4.ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี
สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts) ที่ใช้ในการสร้างและจัดการ RWA อาจมีข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ การโจมตีทางไซเบอร์หรือการแฮ็กอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของโทเคนหรือระบบที่เกี่ยวข้อง
5.ความเสี่ยงจากการเก็บรักษาสินทรัพย์
ต้องมั่นใจว่าบริษัทหรือองค์กรที่เก็บรักษาสินทรัพย์อ้างอิงมีความน่าเชื่อถือและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง ควรพิจารณาความเสี่ยงในกรณีที่ผู้เก็บรักษาสินทรัพย์ล้มละลายหรือมีปัญหาทางการเงิน รวมถึงความเสี่ยงในการแบ่งการรักษาสินทรัพย์เป็นส่วนย่อยด้วย เช่น การแบ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนย่อย ควรพิจารณาความเสี่ยงในกรณีที่เจ้าของแต่ละส่วนย่อย ไม่สามารถเข้าถึงคริปโทเคอร์เรนซีวอลเล็ตของตนได้
6.ความเสี่ยงจากการฉ้อโกง
เนื่องจาก RWA เป็นแนวคิดใหม่ อาจมีโครงการหลอกลวงที่อ้างว่ามีสินทรัพย์อ้างอิงที่ไม่มีอยู่จริง นักลงทุนควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโครงการและทีมงานอย่างละเอียด
7.ความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดคริปโทฯ
แม้ว่า RWA จะอ้างอิงกับสินทรัพย์จริง แต่ราคาของโทเคนอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดคริปโทฯ โดยรวม
8.ความเสี่ยงจากการขาดความเข้าใจ
RWA เป็นแนวคิดที่ซับซ้อนนักลงทุนควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน ควรพิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหรือที่ปรึกษาด้านกฎหมายก่อนการลงทุน
บทสรุป
RWA เป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้นในโลกคริปโทฯ ช่วยเชื่อมโยงระหว่างสินทรัพย์ในโลกจริงและเทคโนโลยีบล็อกเชน เปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการลงทุนและการจัดการสินทรัพย์ แม้จะมีความท้าทายแต่ศักยภาพของ RWA ในการเปลี่ยนแปลงตลาดการเงินและการลงทุนนั้นมีมหาศาล ในอนาคตเราอาจเห็นการใช้งาน RWA ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นทั้งในระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) และตลาดการเงินแบบดั้งเดิม
บทความโดย : Valix Consulting (https://fb.com/ValixConsulting) บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบความปลอดภัย Smart Contract (Aduit) และ Web3 Security Assesment ทั้งในส่วนของระบบ On-Chain และ Off-Chain โดยมีประสบการณ์ในการให้บริการตรวจสอบทั้งโปรเจกต์ของไทยและโปรเจกต์ระดับ Global
อ้างอิง:
https://research.binance.com/static/pdf/real-world-asset-report.pdf
https://www.coinbase.com/learn/crypto-glossary/what-are-real-world-assets-rwa
https://blockapps.net/blog/tokenizing-art-and-collectibles-a-complete-guide/
https://www.quytech.com/blog/guide-to-real-world-asset-tokenization/
https://valix.io/
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)