efinancethai

FinTech

RWA : เมื่อยักษ์ใหญ่การเงินเข้าสู่โลก Blockchain 

RWA : เมื่อยักษ์ใหญ่การเงินเข้าสู่โลก Blockchain 

 

 

RWA : เมื่อยักษ์ใหญ่การเงินเข้าสู่โลก Blockchain 

 

การอนุมัติ ETF Ethereum แบบสปอตเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาจากทาง ก.ล.ต.ของสหรัฐอเมริกา  เป็นอีกหนึ่งสัญญาณสำคัญที่แสดงใ้ห้เห็นว่า ปัจจุบันเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ใช่เพียงแค่ Bitcoin ETF เหรียญเดียวที่ประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้า แต่ยังแสดงให้เห็นว่าเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ ก็ยังสามารถได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลกได้เช่นกัน 

 

จากการอนุมัติดังกล่าว มีเหรียญโทเคนกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงเป็นโทเคนดิจิทัล หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า RWA (Real World Asset Tokenization)  ได้มีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น โทเคนจาก Ondo Finance ซึ่งเป็นโปรโตคอล RWA ที่มีมูลค่ารวมกว่า 450 ล้านดอลลาร์ (TVL) เพิ่มขึ้นถึง 13% ในวันเดียว และผู้ให้บริการ oracle อย่าง Chainlink ก็มีการเติบโตขึ้นมากกว่า 6% วันนี้เลยอยากจะมาคุย update กันอีกครั้งกับ RWA ครับ

 

อะไรคือ RWA Tokenization?

 

ก่อนอื่นขอสรุปสั้นๆ กันอีกครั้งกับ RWA หรือ Real-World Asset Tokenization ก็คือ กระบวนการที่เปลี่ยนสินทรัพย์ในโลกจริงเป็นโทเคนดิจิทัล จึงหมายถึงกระบวนการที่ทำให้สิทธิในการครอบครองทรัพย์สินจริงๆ มาผูกติดกับโทเคนดิจิทัลบนระบบบล็อกเชน โทเคนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นหลักฐานการครอบครองสินทรัพย์นั้นๆ แทนเอกสารที่เป็นกระดาษมาบันทึกอยู่บนบล็อกเชน ยกตัวอย่างเช่น โฉนดที่ดิน หรือ ใบรับรองการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ การเป็นเจ้าของงานศิลปะของสะสม  หุ้นส่วนโครงการต่างๆ หรือการแสดงความเป็นสมาชิกก็สามารถทำได้เช่นกัน โทเคนบนเทคโนโลยีบนบล็อกเชนจะสามารถช่วยแก้ปีญหาในโลกปัจจุบัน ในหลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือ นำมาใช้เป็นเครื่องมือแห่งการลงทุนแบบดิจิทัลที่เปิดโอกาสการลงทุกให้กับทุกคนที่แต่ก่อนทรัพย์สินบางประเภทจะจำกัดอยู่กับนักลงทุนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น 

 

ประโยชน์ที่สำคัญของเปลี่ยนสินทรัพย์ในโลกจริงเป็นโทเคนดิจิทัลนี้มีอีกมากมาย ที่สำคัญก็คือ

 

(1) Enable Borderless Accessibility จะช่วยทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ต่างจากแบบปกติที่มีช่วงเวลาในการซื้อขายที่กำหนดไว้ สร้างความคล่องตัวให้กับสินทรัพย์นั้นๆ ได้มากขึ้น สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทั่วโลก

 

(2) Enhance Transparency and Accountability กระบวนการในการเปลี่ยนเจ้าของหรือซื้อขายก็จะทำได้โดยไม่ต้องมีคนกลาง ทำให้ผู้ซื้อขายมีอิสระมากขึ้นในการบริหารจัดการสินทรัพย์นั้นๆ และด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้เราสามารถตรวจสอบความเป็นเข้าของได้อย่างโปร่งใส ซึ่งทำให้ผู้ซื้อขายมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการฉ้อโกงหรือความขัดแย้งในเรื่องของความเป็นเจ้าของลดลงอีกด้วย

 

(3) Efficency on Operations การทำให้เป็นโทเคนยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินต่างๆ เช่น เอกสาร โบรกเกอร์ ธนาคาร และค่าบุคลากรต่างๆ ซึ่งค่าธรรมเนียมของนักลงทุนก็อาจลดลงได้จากการลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

 

(4) Fractional Ownership นอกจากที่ใช้โทเคนแทนสินทรัพย์แบบหนึ่งต่อหนึ่งแล้ว ด้วยการเป็นโทเคนดิจิทัลสินทรัพย์จะสามารถแบ่งย่อยออกมาเป็นโทเคนหลายๆโทเคนได้ และแต่ละโทเคนนั้นก็จะหมายสัดส่วนของการเป็นเจ้าของร่วมกันนั่นเอง

 

(5) Create New Market, Participant and Liquidity เมื่อสินทรัพย์เป็นโทเคนจะสามารถต่อยอดไปสู่โลกของการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralize Finance : DeFi) กับผลิตภัณฑ์การเงินอันหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย (Trading) การลงทุน (Investing) การฝากกู้ยืม (Lending and Borrowing) ไปจนถึงการให้รางวัล Reward Staking & Farming จากโลกสองโลกที่เคยอยู่แยกกัน มาต่อยอดสนับสนุนกันเพื่อมอบโอกาสให้กับผู้ลงทุนเข้าถึงผลตอบแทนที่ปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้น 

 

ความเคลื่อนไหวปัจจุบันในโลกของ RWA Tokenization

 

การเติบโตของ RWA Tokenization ได้รับความสนใจจากกองทุนและบริษัทการลงทุนระดับโลกที่เริ่มสำรวจและลงทุนในเทคโนโลยีนี้ โดยเห็นว่ามีศักยภาพในการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายย่อยและเพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์หลายๆประเภทที่เคยถือว่าเป็นของนักลงทุนกลุ่มใหญ่หรือกลุ่ม High Net Worth เท่านั้น

 

สถาบันการเงินขนาดใหญ่เช่น Blackrock และ JP Morgan ได้มีความร่วมมือกับ Ondo Finance และ Chainlink 

 

เมื่อเร็วๆ นี้  Depository Trust and Clearing Corporation (DTCC) ซึ่งเป็นระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (The world’s largest securities settlement system) ได้เสร็จสิ้นโครงการนำร่องร่วมกับ Chainlink (LINK) ซึ่งเป็น blockchain oracle และสถาบันการเงินหลักหลายแห่งของสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการแปลงกองทุนให้เป็นโทเคน ตามรายงานที่เผยแพร่โดย DTCC เมื่อวันพฤหัสบดี

 

โครงการที่เรียกว่า Smart NAV มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการมาตรฐานในการนำและเผยแพร่ข้อมูลมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนผ่านบล็อกเชนโดยใช้โปรโตคอลการทำงานร่วมกันของ Chainlink ที่ชื่อว่า CCIP โดยมีสถาบันการเงินเข้าร่วมมากมาย เช่น American Century Investments, BNY Mellon, Edward Jones, Franklin Templeton, Invesco, JPMorgan, MFS Investment Management, Mid Atlantic Trust, State Street และ U.S. Bank

 

โดยหลังจากการทดสอบ DTCC ได้สรุปว่า การแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนดิจิทัลบนบล็อกเชน ด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐาน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและมีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาสินค้าทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานที่สามารถฝังเข้าไปบล็อกเชน เช่น กองทุนที่ถูกแปลงเป็นโทเคนและสัญญาอัจฉริยะ 'bulk consumer' ซึ่งเป็นสัญญาที่ถือข้อมูลสำหรับกองทุนหลายกอง

 

นอกจากนี้ Larry Fink ซีอีโอของ Blackrock กองทุนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ยังแสดงความสนใจในการแปลงสินทรัพย์ทางการเงินเป็นโทเคนผ่านแพลตฟอร์มการแปลงสินทรัพย์ในโลกจริงเป็นโทเคน (RWA) ของ Ondo Finance ซึ่งได้มีโครงการเปลี่ยนสินทรัพย์มูลค่า 95 ล้านดอลลาร์ไปยังกองทุนโทเคนใหม่ของ BlackRock ชื่อ BUIDL เพื่อให้สามารถชำระบัญชีได้ทันที (Real Time Settlement) สำหรับ Own U.S. Treasury-backed token (OUSG) ของกองทุน ETF ของ BlackRock ที่ชื่อว่า iShares Short Treasury Bond ซึ่งทำให้สามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งตรงกันข้ามกับการซื้อขายเฉพาะในช่วงเวลาทำการตลาดแบบดั้งเดิม และยังสามารถช่วยให้ Ondo สามารถเพิ่มความเร็วในการสมัครสมาชิกและไถ่ถอนเป็นการชำระบัญชีทันทีในทุกวัน จากปกติที่ต้องใช้เวลา T+2 วัน

 

การมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของผู้เล่นการเงินขนาดใหญ่ เช่น Blackrock และ JP Morgan ในภาคส่วน RWA พร้อมกับการร่วมมือกับโครงการต่างๆ เหล่านี้  เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับภาพรวมของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี  เมื่อสถาบันเหล่านี้เริ่มแปลงสินทรัพย์ดั้งเดิมเป็นโทเคน มันสะท้อนถึงแนวโน้มที่กว้างขึ้นในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น การเสร็จสิ้นโปรแกรมนำร่อง RWA โดย DTCC และการลงทุนที่สำคัญจากกองทุน on-chain ของ Blackrock เพิ่มความเชื่อมั่นในศักยภาพของการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนอย่างเป็นรูปธรรม และอาจกระตุ้นให้ผู้เล่นในตลาดอื่นๆ ส่งเสริมการนวัตกรรมและการเติบโตต่อไปในพื้นที่บล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นต่อไป

 

นอกจากสินทรัพย์ทางการเงิน อีกหนึ่งในกรณีศึกษาที่สำคัญคือการทำอสังหาริมทรัพย์มาเปลี่ยนเป็นโทเคนดิจิทัล เช่น โครงการของ Harbor ซึ่งได้นำอสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกามาเปลี่ยนเป็นโทเคน และทำให้สามารถซื้อขายในตลาดรองได้อย่างรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีโครงการ ICO หรือการระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัล  เช่น โครงการ RealX ของ Origin หรือ โครงการ SiriHub ของทาง Sansiri ที่สามารถระดมทุนไปได้มากกว่า 2 พันล้านบาท

 

เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่น่าสนใจในตลาด RWA 

 

ปัจจุบันได้มีหลายโครงการเกิดขึ้นใน Theme ของ RWA มากมาย หลายๆ เหรียญมี used case ที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโต เลยขออนุญาตสรุปบางโครงการที่น่าสนใจมาที่นี่นะครับ

 

  1. Chainlink: เหรียญที่ให้บริการ oracle เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากโลกจริงกับบล็อกเชน เพิ่มความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน

  2. Ondo Finance: เหรียญที่เน้นการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคนและสร้างแพลตฟอร์มการลงทุนที่มีมูลค่าสูง

  3. Ribbon Finance: เหรียญที่ให้บริการด้านการลงทุนและการแปลงสินทรัพย์เป็นโทเคน

  4. XDC: เหรียญที่ใช้ในการแปลงสินทรัพย์และการเชื่อมต่อระหว่างระบบการเงินแบบดั้งเดิมกับบล็อกเชน

  5. POLYX: เหรียญที่ให้บริการการแปลงสินทรัพย์และการลงทุนแบบดิจิทัล

  6. OM: เหรียญที่เน้นการแปลงสินทรัพย์และการจัดการการลงทุนบนบล็อกเชน

  7. PENDLE: เหรียญที่ใช้ในการแปลงสินทรัพย์และสร้างตลาดการลงทุนแบบดิจิทัล

  8. RealT: เหรียญที่สนับสนุนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยการแปลงอสังหาริมทรัพย์เป็นโทเคน ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นส่วนของอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างง่ายดาย

  9. Mosaic: เหรียญที่เน้นการแปลงสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรและหุ้น ให้เป็นโทเคน ทำให้การซื้อขายและการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินเป็นไปอย่างโปร่งใสและปลอดภัย

 

การเติบโตของ RWA Tokenization กำลังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการการเงิน การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการแปลงสินทรัพย์ทางการเงินแบบดั้งเดิมให้เป็นโทเคนไม่เพียงแต่เพิ่มความคล่องตัวในการซื้อขายและการลงทุน แต่ยังเพิ่มความโปร่งใสและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สินอีกด้วย การเข้าร่วมของกองทุนใหญ่เช่น Blackrock และ JP Morgan ทำให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของ RWA Tokenization และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมการเงินจะยังคงเติบโตและพัฒนาต่อไปในอนาคต และจะขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆตามมาอย่างเป็นรูปธรรม มาติดตามกันนะครับ

 

บทความโดย : วรพจน์ ธาราศิริสกุล

 

Source:

https://thedefiant.io/news/defi/investors-look-to-blackrock-s-next-target-real-world-assets

https://www.coindesk.com/markets/2024/03/27/ondo-finance-to-move-95m-to-blackrocks-tokenized-fund-for-instant-settlements-for-its-t-bill-token/

https://www.coindesk.com/business/2024/05/16/dtcc-chainlink-complete-pilot-to-accelerate-fund-tokenization-with-jpmorgan-templeton-bny-mellon-participating/

https://support.bitrue.com/hc/en-001/articles/33045340490137-Blackrock-s-New-Focus-Real-World-Assets-RWA-Tokens-on-the-Rise

https://www.binance.com/en-JP/square/post/3826576566114

https://www.kucoin.com/th/learn/crypto/top-crypto-projects-tokenizing-real-world-assets

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)

แบบสอบถามความพึงพอใจ






บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh