10 ปีเหตุการณ์ Mt.Gox กับการหายไปของบิตคอยน์ 850,000 BTC
ปี 2014 ถือเป็นปีที่โลกคริปโตเคอร์เรนซีต้องจดจำ เมื่อ Mt.Gox หนึ่งในแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนั้น ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ประกาศว่าทำบิตคอยน์สูญหายจำนวนมหาศาลถึง 850,000 BTC โดยเหตุการณ์การล่มสลายของ Mt.Gox เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2014 เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อวงการคริปโตเคอเรนซีอย่างมาก เพราะ Mt.Gox นับว่าเป็นเอ็กซ์เชนจ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามรายงานระบุว่า Mt.Gox ถูกขโมยบิตคอยน์ถึง 850,000 BTC ซึ่งคิดเป็นมูลค่า $450 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น ทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียเงินมหาศาล และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในบิตคอยน์ บทความนี้จะพาเราย้อนดูเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นที่ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลกต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยและความเชื่อถือของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอีกด้วย
ความเป็นมาของ Mt.Gox และการล่มสลาย
Source: Forbes , Jed McCaleb
Mt.Gox ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดย Jed McCaleb (ที่อดีตเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ripple) ซึ่งในขณะนั้น Mt.Gox เป็นหนึ่งในเว็บไซต์แลกเปลี่ยนบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุด ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% ต่อมาในปี 2013 Mt.Gox ได้ถูกขายให้กับ Mark Karpelès ซีอีโอหนุ่มสัญชาติฝรั่งเศส Mt.Gox มีการเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้เอ็กซ์เชนจ์นี้กลายเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ระดับโลก
ในช่วงปลายปี 2013 และต้นปี 2014 มีปัญหาทางเทคนิคและการร้องเรียนจากผู้ใช้งานเกี่ยวกับการถอนเงินที่ล่าช้า ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานเริ่มลดลง และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2014 Mt.Gox ได้ประกาศล้มละลาย โดยระบุว่าถูกขโมยบิตคอยน์จำนวน 850,000 BTC จากทั้งบริษัทและลูกค้า ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมหาศาลขนาดที่ว่าถูกบันทึกสถิติ “Largest cryptocurrency hack” บนเว็บไซต์ guinnessworldrecords.com อีกด้วย
ทางการสอบสวนพบว่ามีความเป็นไปได้ที่บิตคอยน์เหล่านี้ถูกขโมยไปตั้งแต่ปี 2011 เนื่องจากมีช่องโหว่ทางความปลอดภัยในระบบของ Mt.Gox และจากการโจมตีทางไซเบอร์ แต่ไม่มีการตรวจพบในตอนแรก จนกระทั่งในปี 2014 พบว่าบิตคอยน์จำนวน 850,000 BTC หายไปจากระบบ ซึ่งเกิดจากการโจมตีที่เรียกว่า "Transaction Malleability" ที่อาศัยช่องโหว่ในโค้ดบิตคอยน์ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลการทำธุรกรรมได้
การฟ้องร้องและการสอบสวน
หลังจากเหตุการณ์ Mt.Gox ประกาศล้มละลาย Mark Karpelès ผู้บริหารของ Mt.Gox ในขณะนั้นได้ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาทุจริตทางการเงิน แม้ว่าเขาจะปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป ในปี 2019 เขาถูกตัดสินให้มีความผิดในข้อหาปลอมแปลงข้อมูลทางการเงิน แต่พ้นข้อกล่าวหาในการยักยอกทรัพย์
Source: Financial Times , Mark Karpelès
กระบวนการชดเชยผู้เสียหายจากเหตุการณ์ Mt.Gox ใช้เวลานานซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากกว่า 24,000 คน รวมถึงบุคคลดังในวงการคริปโตเคอเรนซีและผู้ลงทุนที่มีชื่อเสียง บางคนได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการสูญเสียบิตคอยน์และทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง ตัวอย่างของบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ ได้แก่:
-
Roger Ver - นักลงทุนคริปโตเคอเรนซีที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันในชื่อ "Bitcoin Jesus" เขาเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการ Mt.Gox ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียบิตคอยน์จำนวนมาก ซึ่งเขาได้ลงทุนในบิตคอยน์ตั้งแต่ช่วงต้นของการพัฒนาและใช้ Mt.Gox เป็นแพลตฟอร์มหลักในการซื้อขาย
-
Jesse Powell - ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Kraken ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์แลกเปลี่ยนบิตคอยน์ชั้นนำของโลก เขาเคยมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบและประเมินความเสียหายของ Mt.Gox หลังจากที่เกิดการล้มละลาย โดยเขาได้แนะนำวิธีการในการช่วยกู้คืนบิตคอยน์ที่สูญหาย
-
Mark Karpelès - CEO ของ Mt.Gox ตัวการสำคัญในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ที่สูญเสียบิตคอยน์โดยตรง แต่เขาต้องเผชิญกับคดีความและการฟ้องร้องจากผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ทำให้เขาต้องรับผิดชอบทางกฎหมายและใช้เวลาหลายปีในการพิจารณาคดี
Source: The Japan Times
การเคลื่อนไหวล่าสุดจากเว็บไซต์ Coinmarketcap.com เมื่อ 29 พฤษภาคม 2024 หรือ 10 กว่าปีหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ระบุว่า ผู้จัดการทรัพย์สินเพื่อการฟื้นฟู Mt.Gox ได้สรุปการเตรียมการเพื่อชดเชยให้กับผู้ใช้งานตามแผนฟื้นฟูที่ได้รับการอนุมัติแล้ว และผู้ที่ฟ้องร้องจะได้รับค่าชดเชยสำหรับการเรียกร้องการฟื้นฟูคริปโตในไม่ช้า และสามารถเลือกได้ระหว่างการรับชำระโดยตรงในรูปแบบ BTC และ Bitcoin Cash (BCH) ผ่านเอ็กซ์เชนจ์ที่กำหนด หรือรับจำนวนเงินสดที่เทียบเท่าจากการขายทรัพย์สินก็ได้
ผลกระทบระยะยาวต่อวงการคริปโตเคอร์เรนซี
เหตุการณ์ Mt. Gox เป็นบทเรียนที่สำคัญให้กับวงการคริปโตเคอร์เรนซี การหายไปของบิตคอยน์จำนวนมหาศาลทำให้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนอื่น ๆ ทำให้ผู้ให้บริการต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของระบบมากขึ้น การกำหนดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีก็มีความเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้และนักลงทุนเองควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนและผู้ให้บริการต่าง ๆ ต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์อยู่เสมอด้วย
ถึงแม้จะมีการสูญเสียครั้งใหญ่ แต่วงการคริปโตเคอเรนซีก็ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นจากเหตุการณ์นี้ บิตคอยน์และคริปโตเคอเรนซีอื่นๆ ได้รับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและความปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาโปรโตคอลใหม่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในหลายด้านอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน
อ้างอิง: Bitkub Blog, Wikipedia, Coinmarketcap, Forbes, What is Mt.Gox
คำเตือน:
- คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
- ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)