"Bitcoin พุ่งแรง! Altcoin จะตามรอยหรือไม่?"
ทันทีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้อีกครั้งในเดือนมีนาคม ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ราคาของ Bitcoin ก็พุ่งขึ้นทันที 8.6% การพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของ Bitcoin ในไตรมาสนี้ ทำให้นึกถึงเหตุการณ์สำคัญเมื่อ 4 ปีก่อน ที่เราได้เห็นสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดถูกขายปริมาณมหาศาล จากความตื่นตระหนกในช่วงแรกของการระบาดของโรคCovid-19 ส่งผลให้ Bitcoin ร่วงลงกว่า 45% ภายในเพียงวันเดียว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4 ปีให้หลัง เราได้เห็น Bitcoin ทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ก่อนการ "halving" ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า การพุ่งขึ้นของราคา Bitcoin อย่างรวดเร็วในครั้งนี้ จึงนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า Altcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ จะสามารถตามรอยการปรับตัวขึ้นของ Bitcoin ได้หรือไม่
การลงทุนใน Altcoin ในปี 2024 ถือเป็นความท้าทายใหม่เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับ 2 วัฏจักรที่ผ่านมา วัฏจักรแรกในปี 2017-2018 ถูกเรียกว่า "ICO Boom-Bust Cycle" ซึ่ง Bitcoin ทำราคาสูงสุดที่ 20,000 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก ในขณะที่ Altcoin ที่โดดเด่นส่วนใหญ่เป็นโทเคนจากการระดมทุนผ่าน ICO มากกว่า 90%
ต่อมาในวัฏจักร 2020-2021 เป็นยุคใหม่ของ Altcoin ที่เริ่มต้นในช่วงกลางปี 2020 หรือที่เรียกว่า "DeFi Summer" โดย Altcoin ที่ได้รับความสนใจและสร้างความมั่งคั่งสูงสุดมาจากโปรเจกต์ DeFi ชั้นนำ เช่น UNI, AAVE และ COMP หลังจากนั้น เราได้พบกับกระแส GameFi ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ด้วยคำโปรย "play to earn หรือเล่นเกมแล้วได้เงิน" ในวัฏจักรนี้ยังรวมถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของ Layer 1 blockchain อย่าง SOL, LUNA และ AVAX ซึ่งดึง Altcoin หรือโทเคนขนาดเล็กภายใต้ ecosystem เหล่านั้นโดยทั้ง 3 L1 ยังได้พา Altcoin หรือโทเคนเล็กๆ บน L1 ขึ้นดวงจันทร์ไปหลายตัว หรือที่เรียกว่า “ecosystem play” ซึ่งเป็นการลงทุนใน token หลักของ Layer 1 หรือ Network นั้น ๆ แล้วลงทุนในโทเคนอื่น ๆ บน ecosystem นั้นๆ ตามมา
ในมุมมองของผม ตลาด Altcoin ในช่วงนี้อยู่ในสภาวะ "Attention Economy" โดยปัจจัยพื้นฐานด้านรายได้ที่แท้จริงและกรณีการใช้งาน (Real revenue/Use case) ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมาก่อน ตลาดในปัจจุบันมีความใกล้เคียงกับ traditional finance หรือตลาดการเงินดั้งเดิมมากขึ้น มีการหมุนเวียนภาคส่วนอุตสาหกรรม หรือ Sector Rotation ที่ชัดเจนมากกว่าในอดีต
สำหรับ DeFi ในรอบนี้จะต้องมีรายได้จริง ๆ มีการใช้งานจริง ๆ เกิดขึ้น และสำหรับ โดยโปรเจกต์ที่น่าจะเป็นดาวเด่นคือโปรเจกต์ที่เชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น เช่น โปรเจกต์ที่ทำ AI ก็จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ (หากมองไปที่ตลาดหุ้น Nvidia ก็เป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในโลกในเวลานี้) หรือโทเคนกลุ่มที่ทำธุรกิจที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตจริง มีเสาสัญญาณ หรือโกดังเก็บข้อมูลจริง ๆ กลุ่มนี้เรียกว่า DePIN (Decentralized Physical Infrastructure) ซึ่งจะอยู่ได้ในระยะยาว กลุ่ม DePIN และ กลุ่มโปรเจคที่ถือครองสินทรัพย์ในโลกจริง หรือ กลุ่ม Real World Asset เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองมาก ๆ
Altcoin ในอดีตจะกลับมาหรือไม่?
Altcoin ในอดีตยังมีโอกาสกลับมาได้ แต่ไม่ใช่ทุกตัว โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องมอง Altcoin เก่า ๆ แต่ละตัวคือ ต้องมองให้ออกว่าทีมที่ทำธุรกิจหรือโปรเจกต์ ยังทำอยู่หรือไม่ ทำแบบตั้งใจหรือไม่ และ Use case หรือ Revenue เกิดขึ้นจริง ๆ หรือไม่ ถ้ามีรายได้ชัดเจน และมี Use case ชัดเจน มีโอกาสสูงมากที่จะกลับมา เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งใน Sector Rotation มันจะต้องมีการมองหาว่าควรจะนำเงินไปลงตรงไหนต่อดี
หลายโปรเจคตอนนี้ทำการ Rebrand หรือเปลี่ยนชื่อเพื่อระดมทุนรอบใหม่และเตรียมตัวไป แต่ หากจะเลือกลงทุนควรจะพิจารณาในสิ่งที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งชัดเจน และได้รับความสนใจ ซึ่งข้อนี้อาจไม่ตรงกับ Altcoin ในอดีตหลายตัว
ตลาด Altcoin ในปัจจุบันจริงจังขึ้นจากอดีต
การลงทุนมีความยากและซับซ้อนมากขึ้น ไม่สามารถลงทุนโทเคนตัวไหนก็ขึ้นได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องมีความสนใจและปัจจัยพื้นฐานรองรับในโทเคนนั้น ๆจริง ๆ ตลาดมีความใกล้เคียงกับตลาดการเงินดั้งเดิมมากขึ้น มีการหมุนเวียนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ชัดเจนกว่าเดิม ปัจจัยด้านรายได้และกรณีการใช้งานจริง (Real Revenue/Use Case) กลายเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตามกลุ่มคนกลุ่มแรก ๆ ที่อยู่ในวงการนั้น ไม่ว่าจะเหล่าปลาวาฬ หรือ Venture Capital หลายคนก็ไม่ได้มาจากสายการเงินโดยตรงทำให้หลายคนยังชอบในการคงความสนุกของวงการนี้ไว้ และเป็นที่มาว่าทำไมตอนนี้โทเคนสาย “meme” หรือกลุ่มที่ทำออกมาเพื่อความตลก หลายตัวกลายเป็นโทเคนที่มีมูลค่ามากกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซะอีก ซึ่งโทเคนพวกนี้คือข้อพิสูจน์ว่า Community ของโทเคนและ Attention Economy ยังคงสำคัญไม่แพ้หรืออาจมากกว่าปัจจัยพื้นฐานด้วยซ้ำ
บทความโดย ชานน จรัสสุทธิกุล Co-Founder และ CEO ของ Forward Labs สตาร์ตอัพฟินเทคด้าน Blockchain และ CEO ของ INTNODE ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ผู้สนใจ พร้อมทำให้การศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)