efinancethai

FinTech

Stablecoin ตัวเลือกในการเก็บรักษามูลค่าช่วงภาวะตลาดแบบนี้

Stablecoin ตัวเลือกในการเก็บรักษามูลค่าช่วงภาวะตลาดแบบนี้

 

 

Stablecoin ตัวเลือกในการเก็บรักษามูลค่าช่วงภาวะตลาดแบบนี้

 


Source: Freepik

 

ท่ามกลางความผันผวนแกว่งไปมาของกราฟที่ทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้องในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนมือใหม่อาจเกิดความไม่มั่นใจเนื่องจากสินทรัพย์ในพอร์ตที่ไม่นิ่งและไม่บวกขึ้นเลย อาจกำลังมองหาตัวเลือกการลงทุนหรือสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงมากกว่าเหรียญดิจิทัลทั่วไปอยู่ บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับ Stablecoin เหรียญที่มีการตรึงมูลค่าว่าคืออะไร มีกี่ประเภท มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน และสามารถรักษามูลค่าได้จริงหรือไม่

 

ความหมายของ Stablecoin

 


Stablecoin คือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีความพิเศษมากกว่าคริปโทฯและโทเคนท่ัวไป นั่นคือมีการตรึงราคา (Peg) เข้ากับสินทรัพย์อื่น ๆ ที่นิยมใช้กัน เช่น เงินดอลลาห์สหรัฐ จึงส่งผลให้เหรียญประเภทนี้มีราคาที่ Stable หรือมั่นคงมากกว่าเหรียญประเภทอื่น

 

 

Source: Investopedia

 

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนเลือก Stablecoin เป็นที่รักษามูลค่าหรือพักเงินไว้ เพราะความผันผวนที่มีต่ำกว่าคริปโทฯและโทเคนอื่น และยังเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่ชอบความผันผวนสูง นอกจากนี้ยังเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการ Set Zero เคลียร์พอร์ตตัวเองเพื่อมาเริ่มจัดสรรการลงทุนใหม่ ในปัจจุบันเหรียญ Stablecoin ที่เป็นที่รู้จักของนักลงทุนก็จะเป็นเหรียญสกุลดิจิทัลอย่าง USDT, USDC, DAI เป็นต้น

 

ประเภทของ Stablecoin

 

เหรียญที่เป็น Stablecoin สามารถเเบ่งเเยกย่อยได้เป็นอีก 4 ประเภท ได้เเก่

 

1. Stablecoin ที่รองรับด้วยเงินเฟียต หรือ Fiat-Backed Stablecoins

 

เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะว่ามีความมั่นคงสูงที่สุดในบรรดา Stablecoin เนื่องจากมูลค่าของเหรียญนั้นอ้างอิงตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงสกุลเงินเฟียตอื่น ๆ ในอัตราส่วน ที่ 1 ต่อ 1 อธิบายง่าย ๆ ก็คือ 1 ล้านเหรียญของโทเคนประเภทนี้จะมีมูลค่าเท่ากับเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยกตัวอย่างเช่นเหรียญ USD Coin (USDC)  รองรับด้วย ดอลลาร์สหรัฐ หรือ EUROS (EURS) ที่รองรับด้วยเงินยูโร

 

 

Source: BitPay

 

2. Stablecoin ที่รองรับด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency-Backed Stablecoins


เหรียญรูปเเบบนี้จะใช้คริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ ในการอ้างอิง ซึ่งจะมีความ Decentralized สูง เพราะไม่ได้อิงกับตัวกลางอื่น ๆ นอกจากคริปโทฯ ด้วยกันเอง Stablecoin ประเภทนี้ถูกสร้างขึ้นจากการนำคริปโทฯ ที่มีมูลค่าสูงกว่าไปใส่ในบล็อกเชน เพื่อค้ำประกันมูลค่า ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ Wrapped Bitcoin (WBTC) รองรับด้วย Bitcoin บนบล็อกเชนของ Ethereum

 

3. Stablecoin ที่รองรับด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodity-Backed Stablecoins


เหรียญรูปเเบบนี้จะอ้างอิงมูลค่าตามราคาสินค้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น น้ำมัน ทองคำ ที่ดิน รวมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ กองทุนรวม หรือตราสาร ทว่า Stablecoin ประเภทนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากเท่ากับ เหรียญประเภทเเรก นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนสินทรัพย์ประเภทนี้ให้กลายมาเป็นเหรียญคริปโทฯ ขัดต่อกฎหมายหลักทรัพย์ของหลายประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ Tether Gold (XAUT) ที่รองรับด้วยทองคำ

 

4. Stablecoin ที่รองรับด้วยอัลกอริทึม หรือ Algorithmic Stablecoins

 

เหรียญชนิดนี้มีความพิเศษที่สุดเพราะว่าเป็นเหรียญชนิดที่ไม่ได้รองรับด้วยอะไรเเม้เเต่อย่างเดียวโดยสิ่งที่ใช้อ้างอิงมูลค่าคืออัลกอริทึมของบล็อกเชนที่จะมากำหนดมูลค่าของเหรียญ หมายความว่า หากเหรียญยิ่งมีมูลค่ามาก ระบบก็จะเพิ่มปริมาณของเหรียญที่กำหนดไว้ในระบบ เพื่อให้อัตราเเลกเปลี่ยนลดลงมาเหลือ 1:1 ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ DAI เเละ FRAX

 

 

Stablecoin เหรียญที่ว่าแน่ ก็ยังมีความไม่แน่นอน

 

เเม้ว่า Stablecoin นั้นจะถูกออกเเบบมาเพื่อให้มีวัตถุรองรับเเละตรึงราคาไว้  ในทางทฤษฎีอาจจะถือเป็นเรื่องที่ดี เเต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางที่มันจะไม่เกิดข้อผิดพลาดขึ้น เพราะว่าเหรียญประเภท Stablecoin นั้นยังคงมีความรวมศูนย์อยู่ (Centralization) เเละยังไม่โปร่งใสเท่ากับเหรียญบางชนิด ซึ่งอาจเกิดจากการที่โดนเเทรกเเทรงโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่น ๆ รวมไปถึงการที่มันยังไม่ได้มีการควบคุม (Regulation) อย่างจริงจังด้วย

 

ตัวอย่างกรณีที่เหรียญ Stablecoin นั้นหลุด Peg และราคาตกลงมาก็มีมาให้เห็นหลายครั้งเเล้ว เช่น กรณีสุดโด่งดังของ TerraUSD (UST) เหรียญ Stable coin ประเภท Algorithmic Stablecoins ทำให้ LUNA ในตอนนั้นมีมูลค่าร่วงหล่นมากถึง 99.99…% ในเวลาเพียงไม่กี่วัน สาเหตุเพราะถูกละเมิดกลไกตลาดจากการที่ใช้หลัก Mint & Burn กับเหรียญ UST ที่หลุด Peg จนไม่สามารถตรึงราคาให้กลับมาอยู่ที่ 1:1 ได้ เเละสูญเสียเสถียรภาพไปในที่สุด จนส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้าง จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกลับขึ้นมาอยู่ในสภาพเดิมได้

 

หรือจะเป็นกรณีของ ACALA network ที่โดนเเฮ็คเกอร์ใช้ช่องโหว่ของระบบขโมยเหรียญ AUSD ออกจาก Pool ส่งผลให้เหรียญหลุด Peg ราคาดิ่งลงมาเหลือ 0.01 USD โดยนับตั้งเเต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันมีเหรียญ Stablecoin ที่ล้มเหลว ถูกถอดถอน หรือละทิ้งถึง 23 สกุล เเละส่วนใหญ่ล้วนเเล้วเเต่เป็นเหรียญประเภท Algorithmic Stablecoins ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับตลาดคริปโทฯ ส่วนเหรียญอีกสามประเภทแม้ยังจะไม่มีเหรียญไหนที่เป็นข่าวดังกระฉ่อนโลก เเต่ก็ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งมันจะไม่มีทางเกิดขึ้น เมื่อเหรียญใด ๆ นั้นเกิดการหลุด Peg ขึ้นมา หรือก็คือไม่สามารถคงค่าอยู่ที่ 1:1 ได้ เหรียญนั้นก็จะเกิดการเปลี่ยนเเปลงอย่างไม่ต้องสงสัย



รองรับ” ยังไม่เท่ากับ “รับรอง”


            เราต้องขยายความในจุดนี้เพราะว่าถึงเเม้ Stablecoin จะใช้สกุลเงิน Fiat หรืออื่น ๆ ในการรองรับ เเต่ต้องเข้าใจด้วยว่าตัวมันเองนั้นยังไม่ได้รับการรับรองเลยเเม้เเต่น้อย เเละไม่มีการกำหนดมาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเท่ากับคริปโทฯ ประเภทอื่น ๆ ทางรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาเคยมีความคิดที่จะเข้ามาจัดการดูเเลรวมถึงควบคุม (Regulation)ในส่วนนี้ เเต่ก็ยังไม่เป็นผล เนื่องจากมองว่ายังไม่มีความรีบร้อนที่จะต้องทำ เเละยังต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมก่อน ทว่าล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2023 รัฐบาลสิงคโปร์ ได้ออกมาประกาศกฎเกณฑ์ของ Stablecoin เป็นชาติเเรก ๆ ของโลก สร้างความฮือฮาให้กับตลาด ส่วนทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกรกฎาคมเคยได้มีการออกกฎไปเเล้ว เเต่ยังไม่ได้มีความเคร่งครัดหรือเป็นบรรทัดฐานเท่ากับของสิงคโปร์ในตอนนี้ ขณะที่ทางรัฐบาลฮ่องกง กำลังร่างมติเพื่อหารือในประเด็นนี้ คาดว่าจะมีการบังคับใช้ภายในปีหน้า ทำให้ในปีหน้าสถานการณ์ของ Stablecoin อาจมีการเปลี่ยนเเปลงได้เช่นกัน



บทสรุป
            จากที่กล่าวมาข้างต้นเราให้ความเห็นได้แน่นอนว่า Stablecoin เหมาะสำหรับการรักษามูลค่าในพอร์ตสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยความผันผวนที่ดูจะน้อยกว่า เพราะมีวัตถุมารองรับราคา แต่เเม้จะมีการผูกตรึงราคาเข้ากับสินทรัพย์เเล้วนั้น Stablecoin ก็ยังไม่สามารถเชื่อถือได้ 100% เพราะด้วยหลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นทั้งความโปร่งใส ที่ตัวมันเองยังคงเป็นระบบ CeFi หรือการยังไม่มีการควบคุมอย่างจริงจังก็ตาม  แต่ก็ยังถือได้ว่า Stablecoin เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเพราะผันผวนน้อยกว่าในบรรดาสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด อย่างไรก็ดีนักลงทุนไม่ควรลืมสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับการลงทุนทุกประเภทในปัจจุบัน ผู้ลงทุนควรศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนเริ่มการลงทุนเสมอ เพราะทุกการลงทุนมีความเสี่ยงที่ท่านอาจจะไม่ได้รับผลตอบเเทนคืนมาก็เป็นได้

 


อ้างอิง:  Bitkub, Forbes, Chainsec, Cointelegraph, CNBC, Reuters, SEC

 


คำเตือน:

-คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

-สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

-ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

-ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุน ชี้ชวนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื้อหาข้างต้นเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาโดยใช้ข้อมูลในอดีตและเครื่องมือวิเคราะห์ อาจมีการคลาดเคลื่อนได้ นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh