อนาคตคริปโทไทย ภายใต้ร่มเงาของรัฐบาลใหม่
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ ที่นำทัพโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
นโยบายแรก ๆ ที่ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทยคือนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับทุกคนในประเทศไทยที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมากกว่า 50 ล้านคน และน่าจะใช้งบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในครึ่งปีแรก 2567
นโยบายดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในหลากหลายวงการ ตั้งแต่นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความกังวลถึงปริมาณหนี้สาธารณะ รวมไปถึงนักพัฒนาด้านบล็อกเชน ที่แม้ว่าจะต้องการให้มีการใช้บล็อกเชนอย่างแพร่หลาย ก็มองว่าการแจกเงินดังกล่าวแทบจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้บล็อกเชน ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นในเชิงเทคนิค เนื่องจากสามารถใช้แอปต่าง ๆ ที่อยู่บนระบบรวมศูนย์ดังเดิม อย่างเช่นเป๋าตัง ที่มีอยู่แล้วและประชาชนคุ้นเคย
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยมีมุมมองที่เป็นบวกอย่างมากกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเทคโนโลยีบล็อกเชน ตั้งแต่ความพยายามในการนำบล็อกเชนมาเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง จนไปถึงการบริหารในอดีตที่นำพาธุรกิจของคุณเศรษฐาอย่างแสนสิริ เข้าสู่โลกของบล็อกเชน และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการเข้าลงทุนใน บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) ด้วยเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งในสัดส่วน 15%
ทั้งนี้ XPG มีธุรกิจเรือธงด้านสินทรัพย์ดิจิทัลคือ XSpring Digital (XD) ซึ่งมีใบอนุญาตครบมือทั้งโบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัล ดีลเลอร์สินทรัพย์ดิจิทัล และ ICO Portal ภายใต้การกำกับของสำนักงาน ก.ล.ต. และ XD ยังเป็นบริษัทที่ให้บริการระบบการออกเสนอขาย ICO ตัวแรกของไทย ที่มีอสังหาริมทรัพย์อ้างอิงอย่าง Sirihub ซึ่งระดมทุนไปได้กว่า 2,400 ล้านบาทอีกด้วย
มากกว่านั้น คนใกล้ชิดและผู้นำทางความคิดของฝั่งเพื่อไทยหลาย ๆ คน อย่างเช่นคุณทักษิน ชินวัตร ซึ่งพึ่งเดินทางกลับไทย ก็มีมุมมองที่เป็นบวกมาก ๆ กับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยถึงกับกล่าวไว้ใน clubhouse ว่า “บิตคอยน์จะเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่” รวมถึงถ่ายภาพกับหนังสือ the bitcoin guidebook ลง social media เพื่อเชิญชวนให้คนทั่วไปศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลและบล็อกเชน
นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และน่าจับตามองสำหรับอนาคตสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ที่แม้กระทั่งในปัจจุบัน หลาย ๆ สถาบันทางการเงินของไทยก็ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดนี้ เริ่มจากกลุ่ม SCBX ที่ทำ Exchange และ ICO portal เป็นของตัวเอง อย่าง InnovestX และ TokenX ในขณะที่ธนาคารอย่าง กสิกรไทย และ กรุงศรี ก็เริ่มเข้าสู่การแข่งขันโดยมีการลงทุนในธุรกิจการเงินกระจายศูนย์อย่าง FWX.finance
เมื่อรัฐบาลที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนเทคโนโลยีด้านบล็อกเชนอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ย่อมเร่งการเกิดและการเติบโตของธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมไปถึงเพิ่มการยอมรับของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งมีแนวโน้มในการออก utility tokens หรือ NFTs ซึ่งใช้เปรียบเสมือนคูปอง และบัตรสมาชิก มากขึ้นในอนาคตเมื่อกฏหมายในการจำแนกประเภทของ tokens ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ไทยสามารถช่วงชิงเป็นแนวหน้าทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาคได้
แต่ยังคงมีความท้าทายใหม่ที่รัฐบาลใหม่จะต้องพิจารณาคือการให้ความรู้กับประชาชน ถึงภัยอีกด้านของสินทรัพย์ดิจิทัล การรู้เท่าทันการหลองลวง (Scam) ซึ่งมีอยู่เยอะมากในโลกของคริปโท รวมไปถึงการเข้าใจการบริหารจัดการความเสี่ยง เมื่อเลือกที่จะกระจายการลงทุนมายังฝั่งของสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
บทความโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) PhD in Financial Mathematics
ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา ของ ForwardX - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)