Utility Token & Investment Token ความเหมือนที่แตกต่าง
Source: iStock
โทเคนดิจิทัลหรือ “เหรียญโทเคน” นับเป็นหนึ่งในประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าจับตามองมากขึ้นทุกวันด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีเบื้องหลังและด้วยหัวใจหลักของเหรียญโทเคนดิจิทัลเองนั่นคือการกำหนดสิทธิในเหรียญ ที่ทำให้ประโยชน์ของการถือครองโทเคนเป็นได้มากกว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยน
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเกิดขึ้นของโทเคนชนิดต่าง ๆ ที่มีบทบาทในวงการเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น โทเคนเพื่อสิทธิประโยชน์ (Utility Token) และ โทเคนเพื่อสิทธิการลงทุน (Investment Token)ด้วยความเป็นโทเคนที่ดูคล้ายคลึงกันแต่โทเคนทั้งสองประเภทนี้มีก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันในเชิงของการกำหนดสิทธิ การใช้งาน รวมถึงหลักเกณฑ์ในการบังคับใช้ด้วย ในบทความนี้เราขอเล่าถึงความหมายความเหมือนที่ความแตกต่าง ประโยชน์และความเสี่ยงของการลงทุนเพื่อเป็นความรู้ประกอบการตัดสินใจ
ความหมายและประเภทของโทเคนดิจิทัล
ตามแนวทางการพิจารณาลักษณะสินทรัพย์ดิจิทัลของสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ให้ความหมายและรายละเอียดไว้ว่า โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่น ๆ ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคนเรียกว่า Utility Token
2. เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ เรียกว่า Investment Token
การเสนอขายโทเคนดิจิทัล
ตลาดแรก (Primary Market)
ของโทเคนดิจิทัลเกิดใหม่จะเป็นตลาดที่โทเคนถูกเสนอขายครั้งแรกต่อสาธารณะโดยจะมีการเสนอขายที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO)ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยโดยบริษัทจะเสนอและกำหนดขายโทเคนที่กำหนดสิทธิ เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการหรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือ บริการที่เฉพาะเจาะจงและกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนโดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วยสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน
Source: iStock
ส่วนตลาดรอง (Secondary Market)
จะเป็นที่สำหรับซื้อขายโทเคนดิจิทัลที่ออกก่อนหน้านี้ระหว่างนักลงทุนกับนักลงทุนเองตัวอย่างของตลาดรองคือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets Exchange)หรือกระดานเทรดที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
โดยทั่วไปราคาของโทเคนดิจิทัลจะถูกกำหนดโดยผู้ออกโทเคนในตลาดหลัก ซึ่งจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุปสงค์ของตลาด อุปทาน และการเงินของบริษัทแต่ในตลาดรองราคาของโทเคนดิจิทัลจะถูกกำหนดโดยปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานซึ่งนักลงทุนในตลาดรองจะตัดสินใจซื้อและขายตามข้อมูลที่ตนเองศึกษาและการรับรู้เกี่ยวกับมูลค่าของสินทรัพย์ทรัพย์นั้น ๆ
ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง 2 โทเคน
- ด้านการกำหนดสิทธิ์: Utility Token เป็นการกำหนดเพื่อการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และผลิตภัณฑ์ของบริการต่าง ๆ สามารถใช้สิทธิ์แลกหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรกหรืออาจจะเป็นการถือเพื่อรอใช้สิทธิ์ในอนาคต ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคยหรือเคยได้ยินการแปลงคูปอง บัตรกำนัล คะแนนสะสมหรือบัตรเข้าชมงานและคอนเสิร์ตต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปแบบของโทเคน ส่วน Investment Tokenจะมีความคล้ายคลึงกับหลักทรัพย์ที่เป็นการกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุนอาจจะเป็นโครงการหรือกิจการของอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ก็ได้รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างกรรมสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ เป็นต้น
- ด้านวัตถุประสงค์: อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นโทเคนที่ถูกกำหนดสิทธิในตัว ซึ่ง Utility Token มีวัตถุประสงค์หลักคือให้สิทธิ์ในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการภายในเครือข่ายบล็อกเชน ในขณะที่ Investment Token ถูกออกแบบมาเพื่อให้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของและโอกาสในการรับผลตอบแทนทางการเงิน
- ด้านสถานะกฎหมาย: มีการควบคุมเหมือนกันแต่ความเข้มงวดอาจแตกต่างกัน โดย Utility Token มักถูกพิจารณาเป็นสินทรัพย์ประเภทการให้บริการหรือการบริโภคความเข้มงวดของหลักเกณฑ์จะไม่ได้เข้มงวดเท่ากับ Investment Token ที่ถูกจำแนกให้เป็นหลักทรัพย์ที่ถูกควบคุมด้วยจะมีการตรวจสอบและมีกฎหมายที่เข้มงวดมากกว่าต้องผ่านการพิจารณาในหลายขั้นตอนก่อนจะถูกเสนอขายในตลาด
- ด้านระดับความเสี่ยง: Investment Token มีความเสี่ยงการลงทุนที่สูงกว่าเนื่องจากอาจมีโอกาสในการทำกำไรหรือขาดทุนตามหลักทรัพย์อ้างอิง
ในขณะที่ Utility Token จะมีความเสี่ยงในเรื่องความคงที่ของมูลค่าประโยชน์ของสิทธิที่ได้กำหนดไว้ไม่ได้มุ่งเน้นถึงการลงทุนเพื่อเก็งราคาหรือหวังผลกำไร
ข้อควรรู้และระวังก่อนลงทุนโทเคนดิจิทัล
1. การลงทุนกับ Coin Issuer ต่างประเทศจะไม่ได้ถูกคุ้มครองตามกฏหมายในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561
2. ควรตรวจสอบข้อมูลของผู้ออกเหรียญก่อนตัดสินใจลงทุนเพื่อไม่ให้ถูกหลอกให้ลงทุนโดยอ้างเรื่องการระดมทุนและซื้อสินทรัพย์โดยให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
3. หลีกเลี่ยงการลงทุนกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.
4. ศึกษาหนังสือชี้ชวน ข้อมูลโครงการก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
5. การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควรคำนึงถึงเรื่องราคาที่ผันผวนได้ตลอดเวลา
อ้างอิง: sec.or.th, Bitkub Blog, Bitkub Blog 2, Cointelegraph,
คำเตือน: สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)