efinancethai

FinTech

ทิศทาง DeFi และ CeFi ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ทิศทาง DeFi และ CeFi ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

 

 

ทิศทาง DeFi และ CeFi ในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

 

 

การเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) และการเงินแบบรวมศูนย์ (CeFi) ได้เข้ามามีบทบาทปฏิวัติระบบการเงินทั่วโลก ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านจาก CeFi เป็น DeFi จะทำให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ใช้งานสามารถควบคุมทรัพย์สินของตนได้มากขึ้น และยังเพิ่มขีดความสามารถในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลก

 

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าระบบการเงินทั้งสองนี้จะมีเป้าหมายที่ต่างกัน ในขณะที่ DeFi มีเป้าหมายที่จะกระจายอำนาจของระบบการเงินผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน CeFi ก็จะมุ่งเน้นให้บริการทางการเงินแบบรวมศูนย์แบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย บทความนี้จะพามารู้จักความแตกต่างและสำรวจทิศทางของ DeFi และ CeFi ในอนาคตด้วย

 

ทำความรู้จัก DeFi

 

DeFi ย่อมาจาก Decentralized Finance เป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่จําเป็นต้องมีตัวกลาง (ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ) DeFi ถูกต่อยอดขึ้นมาจากเทคโนโลยี Blockchain บน Ethereum Chain ที่เอื้อต่อการสร้าง Smart Contract ที่ทําหน้าที่คอยจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม มีเป้าหมายเพื่อสร้างบริการทางการเงินที่เปิดกว้างและกระจายอำนาจสู่ทุกคน โดยแพลตฟอร์มในรูปแบบ DeFi จะทำให้เราสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ใดควบคุมเนื่องจาก Smart Contract หรือ “สัญญาอัจฉริยะ” ในระบบสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อเงื่อนไขครบตามที่ร่างไว้

 

ด้วยเหตุของการไม่มีตัวกลาง ส่งผลให้ DeFi เป็นรูปแบบการบริการทางการเงินที่จะสามารถซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา และเพิ่มการเข้าถึงทางการเงินได้ ซึ่งแอปพลิเคชัน DeFi ที่เริ่มเป็นที่รู้จักก็จะมีตั้งแต่แพลตฟอร์มการกู้ยืมและให้ยืม รวมไปจนถึง Decentralized Exchanges (DEXs) การแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์และบริการจัดการสินทรัพย์อีกด้วย

 

ทำความรู้จัก CeFi

 

ในทางกลับกัน CeFi ซึ่งย่อมาจาก Centralized Finance เป็นระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่มีสถาบันหรือองค์กรแบบรวมศูนย์ คอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในระบบการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทนายหน้า หรือสถาบันให้กู้ยืมเงิน ฯลฯ แม้ว่า CeFi จะขาดคุณสมบัติในการกระจายอำนาจ แต่ก็ได้มอบบริการที่เป็นความคุ้นเคยที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและรู้สึกปลอดภัยได้มากกว่า เพราะผู้ใช้ต่างก็คุ้นเคยกับสถาบันการเงินรูปแบบนี้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเห็นมาตั้งแต่เกิด

 

แต่ไม่ใช่ว่า CeFi จะเป็นระบบที่ดั้งเดิมและเป็นการเงินในโลกเก่าไปซะทั้งหมด เพราะในปัจจุบันในยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามามีบทบาทในการช่วยจัดการวางรากฐาน สถาบันการเงิน CeFi บางแห่งได้เริ่มใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อยกระดับการให้บริการต่าง ๆ เช่น บริการการโอนเงิน แพลตฟอร์มพัฒนาการให้บริการ รวมถึงการดูแลลูกค้าในด้านอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้เข้าถึงบริการด้านการธนาคารได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใสมากขึ้น

 

ทิศทาง DeFi และ CeFi ในอนาคต

 

เมื่อเทคโนโลยีการเงินถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว การรับรู้และถูกยอมรับจากคนทั่วโลกก็มีมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้อนาคต DeFi มีแนวโน้มที่จะเติบโตและมีส่วนช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินโลกต่อไป เราสามารถคาดการณ์การขยายตัวเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Exchanges) แพลตฟอร์มการทำฟาร์มผลตอบแทน (Yield Farming Platform) และโปรโตคอลการให้ยืม (DeFi Lending Platform) ยิ่งไปกว่านั้นการผนึกรวมของ DeFi เข้ากับสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริง เช่น อสังหาริมทรัพย์และหุ้นจะทำให้เกิดโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น

 

อีกเหตุผลของความเป็นไปได้ที่ DeFi จะมีบทบาทที่ชัดเจนขึ้นในระบบการเงิน นั่นคือ การสนับสนุนของรัฐบาลหลายประเทศที่มีการส่งเสริมนวัตกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง มีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน เอื้อต่อการเติบโตและคุ้มครองนักลงทุน หากมีการใช้ในวงกว้างเมื่อเทคโนโลยีนี้เติบโตเต็มที่และเป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น

 


ส่วน CeFi ที่ดูมีความปลอดภัยและเป็นที่นิยมกว่ายังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อไป สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการระบบนิเวศทางการเงินที่คุ้นเคย อย่างไรก็ตามการจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เพิ่มเติมในสถาบันการเงินรูปแบบ CeFi จะเป็นการรวมคุณสมบัติ และเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างระบบการเงินในอนาคต โดยนักลงทุนและผู้ใช้จะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบริการการเงินที่ยืดหยุ่น นวัตกรรมที่ก้าวหน้า และโปร่งใสอีกด้วย

 

ประโยชน์และข้อควรระวัง

 

เมื่อรูปแบบทางการเงินเข้าใกล้คำว่า “อิสระ” นั่นหมายความว่าอำนาจบางอย่างเราจะสามารถเป็นผู้กำหนดเองได้ ซึ่ง DeFi ส่วนใหญ่มักจะอยู่บน Public Blockchain หรือบล็อกเชนสาธารณะ เช่น Ethereum Chain, Binance Smart Chain ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเขียน Smart contract ขึ้นมา ทุกวันนี้จึงส่งผลให้เกิด DeFi ขึ้นในเครือข่ายเหล่านี้เต็มไปหมด สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้ประโยชน์ตรงนี้ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงิน หรืออาศัยช่องโหว่ทาง Smart Contract หรือ บั๊ก (Bug) ที่อาจเป็นช่องให้มิจฉาชีพแทรกแซงเข้ามาได้สร้างความเสียหายให้นักลงทุนได้ สิ่งที่ควรทำก่อนเลือกใช้บริการ DeFi คือตรวจสอบว่า DeFi นั้นมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน และให้บริการทางการเงินรูปแบบใด โดยอาจตรวจสอบผ่านเว็บไซต์อย่าง Coinmarketcap, Coingecko หรือลองค้นหาชื่อ DeFi และดูว่าคนอื่น ๆ มีความเห็นกับ DeFi ตัวนั้นอย่างไร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งคือการลองค้นหาว่า DeFi ตัวนั้นได้รับการ Audit โดยองค์กรที่น่าเชื่อถือแล้วหรือไม่ เป็นต้น

 

บทความโดย: Bitkub.com

 

อ้างอิง: Bitkub Blog 1, Bitkub Blog 2, Investpedia, Coinmarketcap

 

คำเตือน:

-คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

-สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

-ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh