efinancethai

FinTech

อนุพันธ์ทางการเงินคืออะไร? ทำไมยังไม่เติบโตในจักรวาลคริปโท

อนุพันธ์ทางการเงินคืออะไร? ทำไมยังไม่เติบโตในจักรวาลคริปโท

 

 

อนุพันธ์ทางการเงินคืออะไร? ทำไมยังไม่เติบโตในจักรวาลคริปโท

 

คำถามหนึ่งที่ผมถูกถามขณะที่เป็นผู้ร่วมพูดในงาน Avalanche Summit II ที่เมืองบาร์เซโลนา คือทำไมอนุพันธ์ต่าง ๆ ที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญมาก ๆ ในการจัดการกับความเสี่ยงในโลกการเงิน มันถึงยังไม่ค่อยเกิดเท่าไหร่ในโลกคริปโท

 

โดยเฉพาะในฝั่งของ Decentralized Finance (DeFi) คนทำก็น้อย คนเล่นก็ไม่ค่อยมี แต่ก่อนจะไปพูดถึงเหตุผลเหล่านั้น เรามาทำความรู้จักกับอนุพันธ์ทางการเงินก่อน

 

***อนุพันธ์ (Derivative) คืออะไร?

 

อนุพันธ์คือสัญญาทางการเงินประเภทหนึ่ง ระหว่างสองฝั่ง (หรือมากกว่าสองก็ได้) ที่มูลค่าของสัญญาผูกติดกับเงื่อนไขและมูลค่าของทรัพย์สินหนึ่ง ๆ ซึ่งเรียกว่า underlying ทรัพย์สินที่เป็น underlying อาจจะเป็นอะไรก็ได้เช่น หุ้น ดัชนีหุ้น น้ำมัน ทองคำ รวมไปถึงคริปโตเคอร์เรนซี

 

ตัวอย่างหนึ่งของอนุพันธ์คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ซึ่งเป็นสัญญาที่ฝั่งหนึ่งสัญญาว่าจะซื้อหรือจะขายทรัพย์สินชนิดหนึ่งในราคาและเวลาที่กำหนดในอนาคต โดยคำศัพท์ที่ใช้ทางการเงินจะเรียกผู้ที่จะซื้อว่าอยู่ในสถานะ Long ในขณะที่ผู้ที่จะขายจะอยู่ในสถานะ Short 

 

ในบางครั้งเพื่อความสะดวก สัญญา Futures เหล่านี้ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินจริง แต่จะจ่ายแค่เพียงส่วนต่างของมูลค่าสินทรัพย์เทียบกับมูลค่าตลาด ทำให้ผู้ที่เปิดสถานะ Long จะได้กำไรของส่วนต่างเมื่อสินทรัพย์นั้น ๆ ราคาขึ้น และขาดทุนเมื่อสินทรัพย์ราคาร่วงลง ในขณะที่ผู้เปิดสถานะ Short จะได้กำไรเมื่อสินทรัพย์ราคาลดลง

 

สัญญาชนิดนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรอย่างแพร่หลายในโลกการเงิน แต่อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของ Futures ที่สำคัญมาก ๆ คือการป้องกัน (Hedge) ความเสี่ยงของราคา 

 

ยกตัวอย่างเช่นบริษัท A มีรายได้เป็น Bitcoin แต่มีรายจ่ายเป็น USD ซึ่งสมมติว่าบริษัท A กำลังจะได้รายได้เท่ากับ 10 Bitcoin ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าราคาของ Bitcoin มีความผันผวนสูง แต่รายจ่ายของบริษัท A มีค่าแน่นอน ดังนั้น บริษัท A ย่อมต้องการลดความเสี่ยงโดยการล็อคราคาของ Bitcoin ไว้ก่อน ซึ่งทำได้โดยการเปิดสถานะ Short 

 

ถ้า Bitcoin ราคาลดลง 10 Bitcoin ที่บริษัท A จะได้ จะมีมูลค่าลดลงด้วย แต่บริษัท A ก็จะได้กำไรจากการเปิดสถานะ Short เป็นการทดแทน ในทางตรงกันข้ามถ้า Bitcoin ราคาขึ้นบริษัท A จะขาดทุนจากการเปิดสถานะ Short แต่ 10 Bitcoin ที่บริษัท A จะได้ในอีก 6 เดือน ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย จะเห็นว่าสัญญา Futures เป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบธุรกิจ และการใช้ Futures อย่างถูกวิธีจะสามารถลดความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินได้อีกด้วย

 

ยังมีสัญญาอนุพันธ์ที่มีความซับซ้อนมากกว่า Futures อีกหลายประเภท เช่น Call Option, Put Option, Digital Option, Barrier Option, Volatility Swap และอื่น ๆ ซึ่งมีไว้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนในตลาด 

 

อย่างเช่น Calll Option ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเปิดสถานะ Long ของ Futures แต่จะเริ่มได้กำไรเมื่อราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นเกินราคาใดราคาหนึ่งที่กำหนด และผู้ที่เปิดสถานะจะไม่ต้องเสียเงินถ้าราคาของสินทรัพย์ปรับตัวลดลง

 

อย่างไรก็ตาม อนุพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ที่ไม่ใช่ Futures ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักในตลาดคริปโต เหตุผลอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น

 

     1. จำนวนคนที่เข้าใจและใช้อนุพันธ์เหล่านี้ยังมีน้อย ต้องยอมรับว่าอนุพันธ์เหล่านี้มีความซับซ้อนค่อนข้างสูง และถูกใช้โดยนักเทรดมืออาชีพ ซึ่งคนที่เข้าใจ และใช้ยังมีอยู่น้อยในตลาดคริปโท

 

     2. คนในตลาดนี้ส่วนใหญ่เป็น นักเก็งกำไร เนื่องจากตลาดคริปโทเป็นตลาดที่ขึ้นชื่อเรื่องความผันผวนที่สูงมาก ๆ ซึ่งตรงกับความต้องการนักเก็งกำไร ทำให้การป้องกันความเสี่ยง หรือ Hedging ถูกละเลยค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าอนุพันธ์เหล่านี้ก็ยังถูกใช้ในการเก็งกำไรได้ แต่ก็ใช้ได้ค่อนข้างยาก

 

     3. ความกังวลจาก Regulators เนื่องจากอนุพันธ์ที่ซับซ้อนสามารถถูกใช้ในการเก็งกำไรและเพิ่ม Leverage ได้มาก ซึ่งเกิดความสูญเสียได้มากสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจ ทำให้เกิดความกังวลค่อนข้างมากจากมุมของ Regulators ยกตัวอย่างเช่นการเทรด TFEX ในไทย ซึ่งยังมีความยุ่งยาก ต้องตอบข้อสอบบางอย่างก่อนที่จะเทรดได้

     

     4. การเป็นคู่แข่งของ “เจ้า” ยักษ์ใหญ่ทางการเงิน ต้องยอมรับว่าตลาดอนุพันธ์เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ๆ ทางฝั่งการเงิน เป็นแหล่งรายได้สำคัญของ Wall Street ซึ่งมีเจ้าขนาดยักษ์มากมาย ที่ได้ผลประโยชน์ การเข้ามาของตลาดคริปโทย่อมต้องแบ่งตลาดจากกลุ่มนี้ โดยเฉพาะฝั่ง DeFi ซึ่งย่อมต้องเจอแรงต้าน รวมถึงการลอบบี้ต่าง ๆ ซึ่งน่าจะลดลงเมื่อกลุ่มยักษ์เหล่านี้ลงมาเล่นเอง

 

ต่อไปเราคนเห็นอนุพันธ์ทางการเงินเหล่านี้แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานเริ่มเข้าใจเครื่องมือมากขึ้น คนเริ่มจะเป็นนักลงทุนมากขึ้น เข้าใจการบริหารจัดการกับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น รวมถึงเมื่อเจ้าใหญ่อย่าง CME หรือยักษ์แห่ง Wall Street เข้ามาอยู่ในเกมส์มากขึ้น ก็คงจะเปิดประตูของอนุพันธ์ทางการเงินในโลกคริปโท 

 

ผมหวังเพียงแต่ว่า นักลงทุนจะใช้อนุพันธ์เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ใช้มันเพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยง มากกว่าการเก็งกำไร และสามารถอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืน


 

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เพจ  “ติดเล่า เรื่องลงทุน” (https://bit.ly/43swCH1)

ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน

PhD. in Finanaicial Mathematics

อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์

ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา FWX.finance แพลตฟอร์มด้านอนุพันธ์ทางการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh