efinancethai

FinTech

Ethereum หลังอัปเกรด Shapella กับข้อเสนอ EIP-4844

Ethereum หลังอัปเกรด Shapella กับข้อเสนอ EIP-4844

 

 

Ethereum หลังอัปเกรด Shapella กับข้อเสนอ EIP-4844  


 

เป็นอีกหนึ่งอีเวนท์ประวัติศาสตร์ของโลกคริปโทฯ กับอัปเกรด Shanghai  หรือ Shapella ที่แม้จะไม่ได้มีแรงกระเพื่อมแรงเท่าตอนอัปเกรด The Merge แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เหล่าผู้ถือและฝาก ETH ในระบบ Beacon Chain จับตามองเพราะทำให้สามารถถอน ETH ที่เคย Stake ไว้ออกมาจากระบบได้

 

ซึ่งนักลงทุนต่างก็คาดการณ์ทิศทางของตลาดคริปโท หลังการอัปเกรดครั้งนี้ไว้หลาย สมมุติฐาน บ้างก็ว่าจะเกิดการเทขายอย่างรุนแรง บ้างก็ว่าการเทขายจะมีเป็นระยะไม่ได้รุนแรงแถมคนจะนำ ETH กลับมา Stake ที่โปรโตคอลอย่าง Liquid Staking Derivatives ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่แรกอย่าง Lido 

 

โดยผลลัพธ์ตอนนี้เกิดเป็นอย่างหลัง ปริมาณการเทขายที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้รุนแรง เพราะมีข้อกำหนดในปริมาณขั้นต่ำในการเทขายต่อวัน  โดยรายที่คาดการณ์ว่าจะเทขายแน่นอนมาจาก Celcius Network ที่ล้มละลายเมื่อปีก่อน เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ และ Kraken ที่โดน ก.ล.ต. สหรัฐฯ ควบคุมเรื่องของ Staking รวมกันแล้วมีปริมาณที่คาดว่าจะขายออกมาราว 1.3 ล้าน ETH 


 

อย่างไรก็ตาม สำหรับอุปสงค์ของผู้ใช้รายอื่น ยังไม่มีแรงกดดันจากสถานการณ์รอบข้างให้เกิดการขายที่รุนแรง แถมระหว่างทางยังเกิดการใช้งาน LSDs แพลตฟอร์มตัวใหม่อย่าง Rocket Pool ที่เปิดให้ผู้ถือ ETH สามารถเข้ามาร่วมเป็น Validators จากเดิมที่ต้องใช้ถึง 32 ETH ก็ใช้แค่เพียง 8 ETH เท่านั้น 

 

ทำให้จนปัจจุบันนี้ ปริมาณการใช้งานเครือข่ายของ Ethereum มีปริมาณการเผาอุปทานลดลงอย่างมีนัยยะมากกว่าการเกิดเหรียญใหม่ขึ้นมา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเป็นสัญญาณที่ดีแม้ราคาจะยังไม่ตอบรับมากนัก

 

รูปภาพแสดงอัตราการเผา ETH หลังจาก The Merge

 

การอัปเกรดของ ETH ส่งผลกระทบในเชิงบวกไปยังเครือข่ายที่ช่วยสนับสนุนอย่าง Layer-2 ด้วย โดยเฉพาะกับ Optimism กับ Arbitrum ที่มีโพรดักส์ออกมาให้ผู้ใช้ได้ใช้งานมากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่มากที่จะทำให้เกิดการใช้งานเข้าถึงระดับบุคคลทั่วไป เพราะค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมไม่ได้ถูกนักเมื่อเทียบกับระบบธนาคารแบบดั้งเดิม 

 

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ นักพัฒนาจึงได้มีการทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนา Ethereum ลำดับที่ 4844 (EIP-4844) หรือที่เรียกขานกันว่า "Proto-Danksharding" ที่จะเข้ามาช่วยให้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบน Layer-2 ถูกลงอีกมาก จากแนวคิดเดิมที่เครือข่ายจะทำการบันทึกข้อมูลลง Blockspace ผ่าน Calldata แต่ในข้อเสนอนี้จะเปลี่ยนไปใช้ Data-blobs แทน  

 

“Danksharding” เป็นการ scale ข้อมูลธุรกรรมที่มาจาก Layer-2 ให้สามารถนำเข้ามาบันทึกใน Layer-1 ได้มากขึ้น แน่นอนว่าเมื่อความสามารถในการบันทึกข้อมูลธุรกรรมเพิ่ม ก็จะช่วยลดความแออัดของเครือข่าย เมื่อความแออัดของเครือข่ายลดลง ก็ส่งผลไปยังค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ลดลงด้วย


 

การอัปเกรดตามข้อเสนอ EIP-4844 จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้าง mass adoption ก่อนการอัปเกรดแบบ Full Sharding บน Ethereum จะมาถึง ซึ่งยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนว่าจะมีการอัปเกรดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบระหว่างทางหรือไม่ แต่เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าจับตามองว่า “Danksharding” จะส่งผลบวกกับระบบนิเวศของเครือข่าย Ethereum ในเชิงการใช้งานมากน้อยขนาดไหนในอนาคต 

 

นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า Layer-1 นั้นมีผู้ชนะไปเรียบร้อยแล้ว จากนี้หากการอัปเกรดถัดมาไม่มีปัญหาอะไร Layer-2 จะกลายเป็นปราการสำคัญให้ Ethereum กลายเป็นเครือข่ายที่ไร้คู่แข่งไปโดยปริยาย กล่าวคือ Layer-1 ที่นอกเหนือจาก Ethereum และ Bitcoin จะเข้ามาแข่งกันได้ยากมากๆ ต่อจากนี้ ซึ่งก็คงต้องคอยติดตามดูว่าจะจริงมากน้อยแค่ไหน

 

 

บทความโดย บีม ชานน จรัสสุทธิกุล

 

ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO ของ FWX- Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain Technology Labs

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh