efinancethai

FinTech

Carbon Credit Tokenization Blockchain มาช่วยคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร

Carbon Credit Tokenization Blockchain มาช่วยคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร

 

 

Carbon Credit Tokenization Blockchain มาช่วยคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร

 

 

“ปัญหาสิ่งแวดล้อม” เป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจที่ไม่อาจมองข้ามได้ในปัจจุบัน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัดทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จนทำให้นานาประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น และหันมาให้ความสนใจในการลดการปล่อยก็าซเรือนกระจกดังที่เกิดความร่วมมือในหลายรูปแบบ 

 

ไม่ว่าจะเป็น Kyoto Protocal 2545 ที่ร่วมกันพิจารณาในการหาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือข้อตกลง Paris 2559 ที่กำหนดหลัการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก และอนุญาตให้ผู้ที่ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่เหลือให้แก่ผู้อื่นได้ หรือที่เรียกกันว่า “คาร์บอนเครดิต”นั่นเอง 

 

ล่าสุด ในการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศได้เข้าร่วมเพื่อสร้างพันธสัญญาในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสและให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส 

 

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนารมย์ที่จะบรรลุเป้า “carbon neutrality” การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนภายในปี 2050 และ บรรลุเป้า “net zero emissions” ที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ใช่แค่คาร์บอนเท่านั้น* มีความสมดุล เท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ก็ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า net zero emissions ได้ ก็แปลว่าโลกของเราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกินที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้ภายในปี 2065

 

ด้วยคุณสมบัติสำคัญด้านความโปร่งใส มีเสถียรภาพ และสามารถตรวจสอบได้ ทำให้เทคโนโลยีบล็อกเชน Blockchain ได้รับความสนใจในฐานะหนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาเป็นกระดานซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับหลายอุตสาหกรรมที่ใช้คาร์บอนเครดิตเกินกำหนด ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายกำลังร่วมมือกันในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้จริง 

 

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร?

 

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) คือการกำหนดมูลค่าทางการเงินให้กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซให้กับภาคธุรกิจ  ซึ่งอาจมีธุรกิจที่บริหารจัดการให้กระบวนการทำธุรกิจสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายจนคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตออกมา ซึ่งมีมูลค่าจนสามารถนำออกขายให้แก่ธุรกิจหรือหน่วยงานที่ในกระบวนการทำงานยังมีส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม ก็สามารถมาซื้อคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยได้ 

 

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) สามารถสร้างขึ้นโดยกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ อย่างเช่น การปลูกต้นไม้ ซึ่งจะนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตโดยการวัดความสูง เส้นรอบวง และพันธุ์ของต้นไม้ เพื่อนำไปคำนวณคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และแปลงออกมาเป็นเครดิตนั่นเอง การคำนวณนั้นจะถูกดำเนินการโดยองค์กรเฉพาะทางของแต่ละประเทศ 

 

สำหรับไทยจะเป็นหน้าที่ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งจะเป็นองค์กรกลางในการคำนวณคาร์บอนเครดิตในแต่ละองค์กรและกิจกรรม  โดยการสร้างคาร์บอนเครดิตเพื่อขายนั้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเท่านั้น แต่ใครก็สามารถทำได้ แม้แต่กิจกรรม CSR ปลูกต้นไม้ก็สามารถนำไปคำนวณเครดิตเพื่อขึ้นทะเบียนขายได้เช่นกัน ซึ่งในเมืองไทยตลาดของการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังเปนรูปแบบของการสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) หรือไม่มีกฎหมายบังคับในปัจจุบัน แต่ก็ได้มีการกำหนดมาตรฐานผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ของทาง อบก. เช่นกัน ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองะเรียกว่า เครดิต TVERs สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting) ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ได้ทันที

 

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) กับบล็อกเชนเทคโนโลยี (Blockchain)

 

กับตลาดคาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจที่มีการเติบโตอย่างสูงกว่า 400 ล้านตันในปัจจุบัน และเป้าหมายที่อยากจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมดที่โลกมีการปล่อยกว่า 420,000 ล้านตัน ทำให้เกิดความสนใจจากองค์กรทั่วโลกที่จะพัฒนาตลาดสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีความโปร่งใส และน่าเชื่อถือ บล็อคเชนเทคโนโลยีจึงเป็นที่คาดหวังที่จะทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้นได้อย่างมั่นคง โดยใช้ประโยชน์ของบล็อคเชนในด้านต่างๆ เช่น

 

ความถูกต้องชองคาร์บอนเครดิตที่เป็นสาธารณะ (Public Records) เนื่องจากคาร์บอนเครดิตมีหลายประเภทและหลายมาตรฐาน ความจำเป็นในการเก็บข้อมูลที่ถูกต้องของมาตรฐานและผู้ตรวจสอบแต่ละคาร์บอนเครดิตจะต้องถูกต้องและเชื่อถือได้ ซึ่งบล็อคเชนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้จากข้อมูลที่เก็บลงในบล็อคเชนจะไม่สามารถแก้ไขได้ และสามารถตรวจสอบที่มาได้อย่างถูกต้องเสมอ 

 

การตรวจสอบที่มา (Traceability) เมื่อมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ คาร์บอนเครดิตสามารถเปลี่ยนเจ้าของได้ไม่สิ้นสุด บล็อคเชนจึงใช้ประโยชน์จากการที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการส่งต่อทุกครั้งเพื่อยืนยันได้ว่าคาร์บอนเครดิตมาจากที่มาที่ถูกต้องและถูกส่งต่ออย่างปลอดภัย

 

การประสานงานระหว่างองค์กร (Connectivity) คาร์บอนเครดิตสามารถมองได้ว่าเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ทำให้ระบบต้องมีความน่าเชื่อถือเพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมั่นใจ ตรวจสอบได้ ซึ่งบล็อคเชนเป็นการทำงานแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized) ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลผ่านบล็อคเชนได้

 

ความโปร่งใสชองคาร์บอนเครดิต (Transparency) เมื่อตลาดมีความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ สามารถแยกคาร์บอนเครดิตที่มึคุณภาพได้อย่างชัดเจน จะทำให้เกิดความมั่นใจและทำให้แต่ละองค์กรเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตมากขึ้น การขยายตลาดจะทำได้รวดเร็วและมั่นคงขึ้น

 

และสุดท้ายคือ การชำระราคา (Settlement) เมื่อเกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ การชำระเงินต่างๆจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องมีคนกลางมาช่วยในการดำเนินการ แต่ด้วยความสามารถของ Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อคเชน จะทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมไปจนถึงการแบ่งส่วนแบ่งต่างๆ สามารถทำได้แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนกลาง

 

ในโลกของบล็อกเชนทั่วโลกจึงมีหลายบริษัทที่สนใจในการนำบล็อกเชนมาช่วยในเรื่องของคาร์บอนเครดิตในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Mintcarbon, KlimaDAO, Toucan Protocol, Moss, Nori, DevvStream หรือในเมืองไทยก็มีแพลตฟอร์ม Gideon จากทาง Blockfint ที่ทำระบบซื้อขายให้กับกลุ่มเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย แพลตฟอร์ม ReAcc โดยกลุ่ม ปตท ที่ทำระบบซื้อขายพลังงานสะอาด (Renewable Energy Certificate) เป็นต้น

 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบล็อกเชนเทคโนโลยีสามารถเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นได้อย่างโปร่งใสและเป็นไปได้อย่างมั่นคงจริงๆ โดยใช้ความสามารถที่พิสูจน์มาแล้วจากคริปโตเคอเรนซีและ NFT เรื่องยากที่สุดก็จะเป็นองค์กรมาตรฐานที่จะเป็นผู้ตรวจสอบก่อนที่จะส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบของบล็อคเชน เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลคาร์บอนเครดิตนั้นถูกต้อง และเชิญชวนองค์กรและบุคคลที่สนใจมาทำงานร่วมกันเท่านั้น ตลาดด้านนี้ยังเพิ่งเริ่มต้น และเรามีสัญญาประชาคมแล้วว่าจะเข้าสู่ Zero Emission กันอย่างจริงจัง เรามาติดตามกันครับ

 

[*ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) มี 7 ชนิด ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3)]

 

Reference

https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/#fn-1

https://www.bangkokbanksme.com/en/6sme3-carbon-credit

http://www.tgo.or.th/

https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/325-Carbon-Credit-Thailand

https://rmi.org/what-can-blockchain-do-for-carbon-markets/

https://blog.cryptostars.is/carbon-credit-nfts-an-increasingly-popular-real-world-use-case-that-you-should-know-about-3764ecc03640

https://cointelegraph.com/news/carbon-credit-nfts-are-only-effective-if-burned-experts-say

https://blog.toucan.earth/tokenization-of-carbon-credits-explained/

https://nftnewstoday.com/2022/10/05/using-nfts-as-carbon-credits/

https://carboncredits.com/the-top-5-carbon-crypto-companies-to-watch-in-2023/

 

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 

 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh