ความระส่ำระสายบนโลกคริปโท กับความเสี่ยงของ Binance
นับว่าเป็นช่วงเวลาแสนหนักหน่วงของนักลงทุนทั้งรายใหญ่ รายย่อยที่เข้ามาลงทุนในโลกคริปโท กับผลกระทบที่ยังคงส่งผลอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ตั้งแต่การล่มสลายของ LUNA ที่ส่งผลต่อเนื่องให้เหล่านักลงทุนสถาบัน อย่าง 3AC, Celcius และอื่นๆ ล้มหายตายจากกันระเนระนาด จนมาถึงกรณีล่าสุดอย่าง FTX ที่ถูกเปิดโปงอย่างหมดจดถึงการกระทำที่ไม่โปร่งใส
ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ล่าสุดทำให้นักลงทุนเริ่มเรียนรู้ และเข้าใจความเสี่ยงในการเข้ามาลงทุนในโลกคริปโทมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะทุเลาลงแต่อย่างใด กรณีของ FTX ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกวางเป็น Exchange อันดับ 2 ของโลก ยังสามารถลดฮวบจนเข้าสู่ภาวะล้มละลายได้อย่างรวดเร็ว ต้องส่งผลถึงความน่าเชื่อถือต่อระบบ และความไว้ใจต่อตัวกลางเหล่านี้อย่างมาก
แม้จะยังมี Exchange อันดับ 1 อย่าง Binance คอยประคับประคองความเชื่อมั่นอยู่ แต่ถ้าปราการด่านสุดท้ายอย่าง Binance ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้าง อาจจะถึงคราวที่โลกคริปโทต้องเข้าสู่สภาวะชะลอตัวยาวนานหลายปีเลยหรือไม่? เพราะ Binance ที่พยายามเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา ก็ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยต่างๆ นานา และเริ่มสร้างกระแสในเชิงลบบนโซเชียลมีเดีย ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าความเสี่ยงของ Binance ที่กำลังเจอมรสุมอยู่มีอะไรซ่อนอยู่ แล้วเราจะสามารถป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทางไหนได้บ้าง
ความเสี่ยงของ Binance
ตามความเข้าใจของทุกคน Binance นั้นเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ปัจจุบันใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ คือ Binance ไม่ได้ให้ผู้ใช้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ตัวเองซื้อแต่อย่างใด กล่าวคือ กระเป๋าที่เราใช้ผ่านการ Log-In ที่สินทรัพย์ของผู้ใช้ทั้งหมดจะถูกรวบรวมไว้ภายใต้การดูแลของบริษัทอย่าง Binance เรียกรูปแบบกระเป๋านี้ว่า Custodial Wallet โดยมีคุณสมบัติสามารถโอนและรับสินทรัพย์ผ่านกระเป๋าได้อย่างอิสระ ไม่ยุ่งยาก
ซึ่งจากความไม่ไว้วางใจ และความน่ากลัวของการล่มสลายของ FTX ทำให้ CEO อย่าง Changpeng Zhao หรือ CZ ต้องออกมาแสดงจุดยืนในความโปร่งใสของการทำธุรกิจของตัวเองอย่าง Proof-of-Reserve ที่แสดงสินทรัพย์ของ Exchange ตน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้ โดยจากรูปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นเหรียญที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Binance ทั้งหมด ได้แก่ BUSD และ BNB แม้จะมีการระบุชัดเจนว่า BUSD ถูกค้ำด้วยเงิน USD ในอัตราส่วน 1:1 แต่ก็ไม่ได้มีเอกสารอย่างเป็นทางการจากนักตรวจสอบบัญชี (Auditor) ของสหรัฐฯ ยืนยันว่ามีอยู่จริงแต่อย่างใด มีเพียงบริษัท Audit เป็นผู้ให้การยืนยันเท่านั้น
รูปภาพแสดง Financial reserves ของ Binance Exchange ที่ยังไม่รวมสินทรัพย์ใน Cold Wallet
จากการกระทำดังกล่าว ก็มีกระแสตีกลับว่าการทำ Proof-of-Reserves เป็นเรื่องที่อาจจะไม่สมเหตุสมผล เพราะการตรวจสอบบัญชีของ Exchange ในอุตสาหกรรมคริปโทยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีการกำหนดมาตรฐานสากลอย่างชัดเจนนัก ซึ่งเป็นความเสี่ยงแรกที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย โดยวิธีการของ Proof-of-Reserves ทาง Wall Street Journal เองก็ได้ตรวจสอบและพบว่าเป็นเพียงการทำตามขั้นตอนผ่านการควบคุมของ Binance อีกทอดหนึ่ง และบริษัท Audit ดังกล่าวก็ไม่ได้รับประกันอะไรแต่อย่างใด เพียงตรวจสอบตามที่แจ้งขั้นตอนมาเท่านั้น แน่นอนว่ารายใหญ่ย่อยขยับตัวก่อน ทำให้เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการโยกเงินออกจำนวนมหาศาล อันเป็นการทดสอบเงินสำรองของ Binance ไปในตัว (Stress Test) ที่สร้างความตื่นตระหนกกันไปทั่ว
โดยข้อมูลจาก Nansen รายงานว่ากระเป๋าของ Binance เมื่อเดือนก่อนมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ $69B แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ราวๆ $54.7B ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมหาศาล เพราะลดลงโดยรวมถึง $15B โดยเหตุการณ์ลดลงของตัวเลขขนาดใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเพียงไม่ถึง 3 วันเท่านั้น ตีเป็นมูลค่ากว่า $2B และรวม 7 วันกว่า $6B เลยทีเดียว
รวมถึงข้อสงสัยใน Proof-of-Reserve ที่ว่า BTC ที่มีอยู่ใน Reserves มีจำนวนเพียงพอต่อการถอนจริงหรือไม่ และการนับรวมใน Reserves นั้น มีการรวมเอา Wraped BTC รวมไว้ด้วยหรือเปล่า เพราะหากรวมด้วย แสดงว่าจะมีปริมาณไม่พอต่อการถอนออก หากเกิดธุรกรรมถอนในปริมาณมาก เพราะ BTC ถูกนำไปใช้เพื่อทำอย่างอื่นอยู่ ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาที่ว่า ตกลง BTC ที่อยู่ใน Exchange ของ Binance มันมีอยู่จริง หรือเรากำลังเล่นกับลมอยู่
รูปแสดง Reserves ของ Binance ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อน (ภาพซ้าย) และเดือนปัจจุบัน (ภาพขวา) จาก Nansen
ความเสี่ยงอย่างที่สอง คือ Binance ยังคงไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยหน่วยงานชัดเจน จนถึงตอนนี้ ซึ่งไม่เหมือน FTX และ Coinbase ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสหรัฐ แม้จะมี Binance US ที่อยู่ในการกำกับดูแล แต่บริษัทแม่ยังคงไม่มีกฎหมายครอบ ซึ่งทำให้มีปัญหากับรัฐบาลสหรัฐจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องคดีการฟอกเงินที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หรือชี้แจงใดใด อีกทั้งบริษัทอย่าง Binance ยังคงมีเบื้องหลังที่ไม่เปิดเผยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเหล่าผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ รวมถึงงบดุลที่เราเหล่าคนภายนอกไม่สามารถล่วงรู้ได้ ทำให้ภาพการสร้างความโปร่งใส โดยอ้างอิงจากระบบ Blockchain ที่ CZ เชื่อมาโดยตลอด ถูกมองจากคนภายนอกเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร เพราะตัวคนภายนอกเอง ก็เริ่มที่จะเคลือบแคลงในตัวของ CZ แล้ว
ความเสี่ยงสุดท้าย คือ ความเชื่อมั่นของผู้ใช้ที่ยังคงมีอยู่ต่อ Binance แน่นอนว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะเคยชินกับความสะดวกสบาย และการใช้งานผ่านตัวกลางที่สร้างความเชื่อมั่นกับเราไว้มาโดยตลอด จนลืมนึกถึงความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ Black Swan เหมือนดั่งที่เคยเกิดกับหายนะก่อนหน้า คำถามที่เราควรจะตั้งกับอยู่เองอยู่เสมอ คือ เราจะมีแผนสำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับ Binance ไว้บ้างหรือเปล่า ในที่นี้ตัวผู้เขียนเองไม่ได้มีเจตนามาโจมตี หรือให้ข้อมูลที่เป็นเชิงลบแต่อย่างใด เพียงแต่การที่เราไม่มีการเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ในตอนที่เหตุการณ์นั้นมาถึง เราจะไม่สามารถ Action ต่อเหตุการณ์นั้นได้อย่างทันท่วงที แม้หลายคนจะมองว่าข่าวที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก แต่ถ้ามันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะเกิดหายนะ เราจะทำอย่างไรกับสินทรัพย์ของเราได้บ้าง
หากเรายังกลุ่มคนที่เชื่อในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแรงกล้า การบริหารความเสี่ยงด้วยการโยกสินทรัพย์ของเรามาเก็บไว้กับเราเองผ่าน Hardware Wallet แล้วใช้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ผ่าน Decentralized Exchange หรือบริการอื่นๆ ผ่าน DeFi แทน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกดูเป็นทางรอดที่ดีเช่นกัน หรือจะโยกสินทรัพย์ทั้งหมดออกมาไว้กับ Centralized Exchange ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างชัดเจนก่อน ก็เป็นอีกทางเลือก แม้เหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกิดกับ FTX จะยังคงสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อ CEX อยู่ไม่น้อย แต่เราก็ไม่ควรกลัวจนไม่มีทางหนีทีไล่ไว้เลย แต่ความระส่ำระส่ายที่เกิดขึ้นกับเหล่าตัวกลาง ท้ายที่สุดแล้วคนจะเริ่มเข้าใจ และหันมาศึกษา เพื่อพยายามเข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบของ Decentralized มากขึ้นก็เป็นได้
สุดท้ายนี้ สำหรับหลายคนที่ยังห่วงว่าจะตกรถ หรือซื้อของถูกไม่ทัน อยากให้อย่าลืมนึกถึงการบริหารความเสี่ยงเป็นอันดับแรก สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุน คือ ความอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ไม่ใช่สร้างผลตอบแทนให้ไวที่สุด
บทความโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) PhD in Financial Mathematics
ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Facebook แฟนเพจ ติดเล่า เรื่องลงทุน
กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom)