efinancethai

FinTech

DeFi กับการกำกับดูแล ‘ปกป้อง หรือ กีดกัน’?

DeFi กับการกำกับดูแล ‘ปกป้อง หรือ กีดกัน’?

 

DeFi กับการกำกับดูแล ‘ปกป้อง หรือ กีดกัน’? 

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินข่าว ไม่ว่าจะเป็น “DeFi ถูกกำกับดูแล…” , “ออกกฎหมายควบคุมทรัพย์สินดิจิทัล… ” และอื่นๆ โดยใจความโน้มเอียงไปในทิศทางเดียวกัน คือ การพยายามเข้ามาควบคุม  กำกับดูแลสินทรัพย์ และบริการบนโลกดิจิทัลอย่าง DeFi และ Digital Assets ทั้งหลายให้อยู่ภายใต้กฏ ระเบียบเหมือนๆ กับสินทรัพย์การลงทุนประเภทอื่นๆ แต่การกำกับดูแล DeFi ซึ่งมีลักษณะในการกระจายศูนย์นั้น จริงๆ แล้วควรมีหรือไม่ แล้วถ้ามีควรจะมีลักษณะอย่างไร?  วันนี้เราจะมาพูดคุย แลกเปลี่ยนในประเด็นนี้กันครับ

 

DeFi คืออะไร?

 

DeFi หรือ Decentralized Finance เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการเงินรูปแบบกระจายศูนย์ที่สร้างขึ้นผ่านระบบบล็อกเชน จากการที่เรามีสกุลเงินดิจิทัล สิ่งที่ตามมาคู่กับสกุลเงินก็คือ Banking หรือธุรกรรมทางการเงิน เราจะนำสกุลเงินเหล่านี้ไปฝากได้อย่างไร? จะสามารถกู้สกุลเหล่านี้ได้ไหม? รวมถึงแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ DeFi เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมเหล่านี้และอื่น ๆ อีกมากมาย ภายใต้แนวคิดของการไร้ศูนย์กลางทุกอย่างบนแพลตฟอร์ม DeFi ยกตัวอย่างเช่นอัตราดอกเบี้ยของการฝากสกุลเงินดิจิทัล จะถูกควบคุมและดูแลผ่านโปรแกรมชุดหนึ่งเรียกว่า “สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)” ข้อดีของระบบการเงินแบบกระจายศูนย์เช่นนี้มีหลายอย่างมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Censorship resistance ไม่มีใครสามารถขัดขวางธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้งานได้ ไม่สามารถแก้ไขตัวเลขอย่างอัตราดอกเบี้ยได้ตามใจชอบ และไม่จำเป็นต้องแก้ไขตามธนาคารกลาง ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตนเหมือนกับการใช้บริการสถาบันการเงินในปัจจุบัน ซึ่งให้อิสระกับทุกคนในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้หมด ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งช่วยให้ผู้คนทั่วไปที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ตั้งแต่ การฝาก ถอน กู้ ตราสารอนุพันธ์ การประกันภัย จากสถาบันทางการเงินปกติ มีโอกาสเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้

 

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่ DeFi อยู่ภายใต้แนวคิดของการไม่มีตัวกลาง และไม่มีผู้ควบคุม กลับกลายเป็นจุดอ่อน

 

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะได้ยินเรื่องราวของการโกงในโลก DeFi บ่อยครั้ง ตั้งแต่การแอบแก้ smart contract, แอบฝังช่องโหว่ไว้ในโปรแกรม, rug pull (การเทขายเหรียญจากผู้พัฒนาแพลตฟอร์มทั้งหมด จนเหรียญหมดมูลค่า) รวมไปถึงการดึงเงินทั้งหมดออกจากระเป๋าของผู้ใช้บริการซึ่งเกือบจะแทบทั้งหมด ไม่สามารถตามหาตัวผู้กระทำผิด และไม่สามารถเรียกร้องการชดใช้คืนได้ ซึ่งเวรกรรมทั้งหมดนั้นจึงตกอยู่กับผู้ใช้งาน ผู้ลงทุนที่มีความรู้สามารถอ่าน code ได้ เลือกแพลตฟอร์มที่ถูกตรวจสอบจาก auditor ที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งมีพาทเนอร์ และนักลงทุนที่สนับสนุนที่มีชื่อเสียงก็จะประสบปัญหาเหล่านี้น้อยลง

 

การกำกับดูแลที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ก.ล.ต. อาจจะสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจ รวมถึงช่วยปกป้องผู้ใช้งานและผู้ลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเร่งการเติบโตในทางที่ดีให้กับ DeFi ได้ แต่การกำกับดูแลด้วยกฏระเบียบที่ไม่เหมาะสม อย่างการพยายามจะกำกับดูแลเทคโนโลยี มากกว่ากำกับดูแลกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย และกิจกรรมที่ส่งผลเสียกับผู้ใช้งาน อาจส่งผลกระทบในทางลบที่ร้ายแรงต่อนวัตกรรม และการเติบโตของ DeFi ในประเทศไทย บ่อยครั้งกฏระเบียบที่ถูกออกมาเพื่อปกป้องผู้ใช้ และควบคุมไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่สร้างความเสียหาย กลับไม่มีผลต่อกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมฉ้อโกง หลอกลวง แต่ทำให้ “เด็กดี” ที่พยายามทำทุกอย่างตามระเบียบต้องลำบากมากขึ้น จนไม่สามารถที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ต่อไปในไทยได้ ท้ายที่สุดก็ต้องย้ายออกไปทำที่ต่างประเทศ ทำให้เหลือเพียงกลุ่มที่ตั้งใจโกงพยายามหาผลประโยชน์จากช่องว่างทางกฏหมายนั้นแทน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นการทำลายพัฒนาการของเทคโนโลยี แทนที่เทคโนโลยีนั้นจะได้ช่วยและสร้างผลดีให้แก่คนหมู่มาก อีกทั้งยังไม่สามารถยับยั้งกิจกรรมที่ทำลายผู้ใช้และผู้ลงทุนได้อีกด้วย

 

สิ่งนี้นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมากสำหรับ Regulators ผู้มีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และปกป้องนักลงทุนรายย่อย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง  แต่ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมเทคโนโลยีให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพได้อย่างราบรื่นมากกว่านี้ รวมถึงช่วยสร้างความสะดวกให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม และยังรักษาความเป็นการกระจายศูนย์ของ DeFi เอาไว้ด้วย

 

ต้องมาตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า ในอนาคตการกำกับดูแลเหล่านี้จะมีการปรับแก้ได้อย่างเหมาะสมมากน้อยขนาดไหน ซึ่งในความเห็นผมทาง ก.ล.ต. อาจจะต้องร่วมเจรจาหารือกับผู้มีประสบการณ์มากกว่านี้ เพื่อให้ได้ข้อกำหนดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น 
 

บทความโดย ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน Co-Founder และ Advisor 

ของ Forward - Decentralized Derivatives Exchange และ Forward Labs - Blockchain technology labs 

 

กราฟิก: ณัฐชนน พูนชัย (Boom) 

 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh